กรุงเทพฯ 24 ก.ค. – ส.อท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นการขยับขึ้นในรอบ 3 เดือน โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว แนะเพิ่มเที่ยวบินรองรับ แต่ห่วงดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่คาดจะลดลงจากหลายปัจจัย รวมถึงมีข้อกังวลเรื่องปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร เสนอภาครัฐเตรียมรับมือสภาวะเอลนีโญ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมแถลงถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 92.5 ในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
นายมนตรีกล่าวถึงองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ตันทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว
ขณะที่ภาคก่อสร้างขยายตัวโดยเฉพาะภาอสังหาริมทรัพย์และโครงการภาครัฐ นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทและอัตราค่าระวางเรือที่ลดลงช่วยลนับสนุนนภาคการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอลงโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียนและยุโรป ตลอดจนปัญหาความขัดแยังทางภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย – ยูเครน ยังกดดันราคาพลังงานโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกายังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินโลก
ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวลดลง จาก 104.3 ในเดือนพฤษกาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก รวมถึงวิกฤตภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลกระทบภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
นายเกรียงไกรกล่าวถึงข้อเสนอแนะของ ส.อ.ท. ต่อภาครัฐเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมว่า มีดังนี้
1) ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้างวด 3/2566 (เดือนกันยายน – ธันวาคม 2566) ลงมาอยู่ที่ 4.25 บาท/หน่วย เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการและบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
2) เสนอให้ภาครัฐปรับเพิ่มเที่ยวบินและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถโปรโมตสินค้าไทยไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
3) เสนอให้ภาครัฐเตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม
4) ขอให้ภาครัฐดูแลและบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้รวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุดสาหกรรมและข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุดสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (IDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่www.fti.or.th/idsStronger Thailand). – สำนักข่าวไทย