กรุงเทพฯ 21 ก.ค.- คลัง แจง การใช้เงินช่วยเหลือ เกษตรกร ผู้ประกอบการ ช่วงโควิด-19 ตาม ม.28 พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ ยังไม่เกินเพดานร้อยละ 32 งบปี 66 เบิกจ่ายแล้ว 2.564 ล้านล้านบาท คาดช่วงทีเหลือเบิกจ่ายตามเป้าหมาย
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีกระแสข่าวระบุว่า รัฐบาลมีความสามารถในการใช้จ่ายค่อนข้างจำกัด จากการใช้จ่ายตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ใกล้เต็มเพดานร้อยละ 32 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 มีวงเงินคงเหลือ18,000 ล้านบาท อาจกระทบการใช้งบประมาณปี 2566 นั้น
ในส่วนของวงเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ นั้น เป็นวงเงินใช้สำหรับกรณีที่รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการต่างๆ โดยใช้เงินทุนขององค์กรไปพลางก่อน หลังจากนั้นรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่าย ให้กับหน่วยงานของรัฐในภายหลัง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรในช่วงราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 หรือ ประกันรายได้ข้าว65/66 ธ.ก.ส. จ่ายเงินสำรองให้ก่อน ตั้งแต่งวดที่ 1-15 จ่ายส่วนต่างแล้ว จำนวน 2.59 ล้านครัวเรือน วงเงิน7,844.16 ล้านบาท
รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ มีเงินใช้ฉุกเฉินในช่วงโควิด-19 ของ ธ.ออมสินและธ.ก.ส. และการลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น โครงการรคนละครึ่ง ,เราเที่ยวด้วยกัน โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้กำหนดกรอบ ยอดหนี้คงค้างรวมทั้งหมด รัฐต้องรับชดเชยจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 เพดานไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด
โดย ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐในปีงบประมาณ 2566 จะดำเนินการภายใต้วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ได้ เบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 2.564 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80.5 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในช่วงระยะเวลาที่เหลืออีก 2 เดือน ในปีงบประมาณ 2566 (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2566) คาดว่า รัฐบาล เบิกจ่ายงบประมาณในส่วนที่เหลือได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้
ในส่วนของการใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นรายจ่ายใน พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์ การเยียวยา หรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง มีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ ในปีงบประมาณ 2566 ได้ตั้งวงเงินงบประมาณ จำนวน 92,400 ล้านบาท ณวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ครม. อนุมัติวงเงินดังกล่าวไปแล้ว ประมาณ 52,000 ล้านบาท เช่น โครงการเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 มาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงเมษายน 2566 เป็นต้น งบกลางจึงเป็นการใช้เงิน คนละส่วนแยกจาก ม.28 ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง .-สำนักข่าวไทย