กรุงเทพฯ 19 ก.ค. – รมว.คลัง แนะปรับแผนประกันภัยดูแลหลายความเสี่ยง “อาคม” แนะเพดานวินัยการเงินการคลังระดับเดิมร้อยละ 30
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของธุรกิจประกันภัยต่อการส่งเสริมให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างยั่งยืน” ในการประชุมผู้บริการระดับสูงด้านการประกันภัยประจำปี ว่าสำนักงาน คปภ. จำเป็นต้องดูแลกำกับดูแลความเสี่ยงที่มีมากขึ้นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภัยธรรมชาติ และโรคระบาดติดต่อ มีความเสี่ยงมากขึ้น นับว่าธุรกิจประกันภัยได้ช่วยบรรเทาผลกระทบในโควิด-19 ให้กับประชาชน จึงต้องนำระบบประกันภัยจากต่างประเทศมาปรับใช้กับระบบประกันภัยในไทยให้มากขึ้น
จึงแนะแผนพัฒนาประกันภัย 3 ประเด็น คือ การขับเคลื่อนด้วยนโยบายด้านความยั่งยืนตามเป้าหมายขององค์กรสหประชาชาติ จากภาวะโลกร้อนส่งต่อกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก รัฐบาลไทยมีนโยบาย ESG ในภาคธุรกิจและนโยบาย BCG ในภาพรวมของประเทศ จากการลดการใช้น้ำมันปิโตรเลียมภาคการขนส่ง สนับสนุนเดินทางระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานภัยแล้ง สู่สังคมผู้สูงอายุ และพืชเศรษฐกิจ ประเด็นที่ 2 การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลที่ต้องปลอดภัย และประเด็นสุดท้ายเรื่องความเชื่อมั่นของระบบประกันภัย คุ้มครองผู้บริโภคในระบบประกันภัยจากความเสี่ยงต่างๆ อาจเกิดขึ้น
รัฐมนตรีคลัง ย้ำว่าเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการท่องเที่ยว แต่ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกผันผวนและการส่งออกในประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงภาคการเงินการคลังที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยให้มากขึ้น โดยในปี 2569 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมธนาคารโลกกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นับว่าต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยมากขึ้น
นายอาคม กล่าวว่า กรณีวงเงินการใช้จ่ายตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เหลือเพียง 1.8 หมื่นล้านบาท อาจเป็นข้อจำกัดการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังของรัฐบาลชุดใหม่ว่า ปัจจุบันกรอบวงเงินในการใช้จ่ายตามมาตราดังกล่าวมีสัดส่วนร้อยละ 32 ลดลงจากเดิมที่ได้มีการขยายเป็นร้อยละ 35 ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนโครงการรัฐ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ดูแลประชาชน เกษตรกร ส่วนจะต้องมีการขยายเพดานเพิ่มหรือไม่นั้น ต้องดูความจำเป็น และต้องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังพิจารณา เบื้องต้นเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องขยาย และมองว่ากรอบวงเงินควรกลับไปอยู่ในระดับเดิมร้อยละ 30 ตามเดิม
เนื่องจากโครงการต่างๆ ดำเนินการในช่วงโควิด-19 จบเรียบร้อยแล้ว เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง แม้ยอดคงค้างตามมาตรา 28 จะยังสูง จากการตั้งงบประมาณเพื่อใช้คืนให้หน่วยงานที่ดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามจำนวน โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ติดตามการปิดโครงการเพื่อให้หน่วยงานคืนวงเงินกลับมา ในส่วนของโครงการประกันภัยนาข้าวรอบล่าสุดที่ ครม. ยังไม่พิจารณาเห็นชอบนั้น ยืนยันว่าไม่ได้ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ เพียงนำเสนอให้ ครม. พิจารณาไม่ทัน กรณีหากเกิดภัยพิบัติ ยังมีมาตรการอื่นๆ รองรับอยู่แล้ว เช่น มาตรการชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกร.-สำนักข่าวไทย