กรุงเทพฯ 17 ก.ค.-มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ กฟผ. เดินหน้าโมเดลปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมพร้อมขึ้นทะเบียน T-VER ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้ชุมชนบนพื้นที่สูงอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนสร้างรายได้เพิ่มผ่านการขายคาร์บอนเครดิต
พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานกิจกรรมตรวจเยี่ยมและปลูกป่าพื้นที่นำร่องโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตาม มาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม ณ ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงห้วยน้าริน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ตระหนักถึงการเร่งแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมร่วมเดินหน้าประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกตามธรรมชาติภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม โดยตั้งเป้า 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2565 – 2574) ซึ่งความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และกฟผ. ในครั้งนี้เป็นการต่อยอดเพื่อยกระดับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ด้วย โมเดล“ปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตแบบผูกพัน” (Contract T-VER Farming) โดยเบื้องต้นคัดเลือกเกษตรกรนาร่องจำนวน 3 ราย จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจากพื้นที่เป้าหมายกว่า 20 ราย ที่ศักยภาพในการดูแลรักษาต้นไม้ให้อยู่รอด เพราะมี “ใจ” ตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งพื้นที่มีความเหมาะสม คิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 22.5 ไร่
สำหรับโมเดลปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วม มูลนิธิโครงการหลวงจะส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูก พืชวนเกษตรผสมผสานระหว่างพืชเศรษฐกิจ อาทิ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด กาแฟ กล้วย ควบคู่กับการปลูก ไม้ผลยืนต้นที่มีเนื้อไม้และมีวงปี อาทิ ลำไย มะขามป้อม มะม่วง เพื่อดูดซับกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มพื้นที่ป่าถาวรในชุมชน ภายใต้การดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง ตั้งแต่การจัดหากล้าพันธ์ุไม้ การพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำการรับซื้อและแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการหาตลาด รองรับผลผลิตต่าง ๆ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สูงมีรายได้จากผลผลิตอย่างต่อเนื่อง สามารถพึ่งพาตนเองได้
ด้าน กฟผ. จะร่วมสนับสนุนการประยุกต์องค์ความรู้ด้านคาร์บอนเครดิต ศึกษาสภาพทางกายภาพ และจัดเก็บข้อมูลพื้นที่ปลูกของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ T-VER เพื่อดำเนินการขอขึ้นทะเบียนและรับรอง คาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยเมื่อเกษตรกรดูแลบำรุงรักษาไม้ยืนต้นให้อยู่รอดเติบโตจนถึงประมาณปีที่ 5 เกษตรกรจะสามารถเริ่มขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง และสามารถเก็บเป็นสินทรัพย์ที่ส่งต่อให้ลูกหลานได้ในอนาคต
ทั้งนี้นอกจากการปลูกป่าวนเกษตรแล้ว ประชาชนในพื้นที่ยังร่วมจัดทำฝายชะลอน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้น และเพิ่มอัตราการรอดของต้นไม้อีกด้วย
สำหรับการดำเนินงานปลูกป่าภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและ กฟผ. ในปี2565 ได้ดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงห้วยร้พขุ่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ รวม 741 ไร่ โดยตั้งเป้าปลูกป่าต่อเนื่องในปี 2566 อีกจำนวน 829 ไร่
“กฟผ. เชื่อมั่นว่าโมเดลการปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมด้วยคาร์บอนเครดิตแบบผูกพัน ที่ กฟผ. ช่วย สนับสนุนการรับรองคาร์บอนเครดิตจนถึงการรับซื้อคาร์บอนเครดิต จะมีส่วนสาคัญในการพัฒนาชุมชนให้ เข้มแข็งตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน และลดก๊าซเรือน
กระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม นำมาซึ่งความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง”รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าว.-สำนักข่าวไทย