กรุงเทพฯ 4 ก.ค.-ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยมองส่งออกยังอ่อนแรงแนะรัฐเร่งกิจกรรมขับเคลื่อนครึ่งปีหลัง โดยคงคาดการณ์ตัวเลขส่งออกทั้งปีระหว่าง -0.5 -1% พร้อมเสนอแนะเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อขับเคลื่อนแผนการส่งออก และขอให้ภาครัฐเร่งลดต้นทุนภาคการผลิต ที่ปรับสูงขึ้นและอาจเสียเปรียบคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ อาทิค่าไฟฟ้า ค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยเป็นต้น
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร ระบุว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤษภาคม 2566 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,340.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 4.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 830,448 ล้านบาท หดตัว 2.8% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคมหดตัว 1.4%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 26,190.2 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 904,563 ล้านบาท หดตัว 1.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2566 ขาดดุลเท่ากับ 1,849.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 74,115 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – พฤษภาคมของปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 116,344.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.1% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ3,941,426 ล้านบาท หดตัว 2.4% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม – พฤษภาคม หดตัว 2.1%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 122,709.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,210,326 ล้านบาท ขยายตัว 0.2% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566 ขาดดุลเท่ากับ 6,365.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 268,901 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สรท. คงคาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2566 ระหว่าง -0.5% ถึง 1% (ณเดือนมิถุนายน 2566) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ได้แก่ 1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน หลังจากการเปิดประเทศของจีนเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ สหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ลดต่ำลงอยู่ที่ 46.3 และยุโรป ณ ระดับ 43.6 2) อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ 3) ต้นทุนการผลิตยังคงสูง อาทิ ค่าไฟฟ้า วัตถุดิบการผลิต ส่งผลต่อความสามารถทางด้านการแข่งขันของไทย 4) ความเสี่ยงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (El Nino) ต่อภาคการเกษตรในประเทศ
นอกจากนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1) เร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนแผนการส่งออกอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 2) ขอให้ภาครัฐเร่งลดต้นทุนภาคการผลิต ที่ปรับสูงขึ้นและอาจเสียเปรียบคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าแรง และอัตราดอกเบี้ย 3) เร่งเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการในโซ่อุปทาน (Supply Chains Financing) โดยเฉพาะ SMEs 4) เร่งเพิ่มทักษะและสมรรถนะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานด้วย.-สำนักข่าวไทย