นนทบุรี 27 มิ.ย. – ปลัดพาณิชย์ เผยทิศทางการส่งออกของไทยเดือน พ.ค.66 ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แต่เริ่มชะลอตัวลง ส่งผลให้ภาพรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ยังหดตัวที่ 5.1% มั่นใจยังมีปัจจัยบวกที่จะผลักดันการส่งออกปีนี้ให้ขยายตัวได้ 1-2% ตามเป้าหมาย
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนพฤษภาคม 2566 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 24,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ 4.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบถึง 7.6% เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวถึง 16.3% โดยเฉพาะสินค้าผลไม้สด แช่เย็น-แช่แข็ง และแห้ง หดตัวถึง 54.8% เนื่องจากหมดฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก แต่น่าจะกลับมาดีขึ้นหลังจากผลไม้ภาคใต้ออกสู่ตลาด โดยสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน บวก 1.5% ทั้งรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญอย่างจีน กลับมาหดตัวถึง 24% และหดตัวต่อเนื่องในตลาดญี่ปุ่น ที่ 1.8% แต่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ สหภาพยุโรป และอาเซียน ยังขยายตัวได้ แม้หลายประเทศเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการทำงานเพื่อผลักดันการส่งออกในปีนี้ให้ขยายตัวเป็นบวกที่ 1-2% เพราะยังมีปัจจัยสนับสนุน ทั้งจากความต้องการสำรองอาหาร และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ดีขึ้น รวมไปถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการเดินทางจะส่งผลดีต่อการบริโภค
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติม ทั้งเงินบาทที่อ่อนค่า และธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจล่าสุดมีแนวโน้มดีขึ้นหลายประเทศ เช่น เศรษฐกิจสหรัฐ จาก 0.5% เป็น 1.1% ขณะที่ยูโรโซน เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นจาก 0% เป็น 0.4% และจีน คาดว่าจะดีขึ้นจาก 4.3% เป็น 5.6% จึงเชื่อว่าครึ่งปีหลัง การส่งออกจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ย้ำว่า การส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2566 ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งหากในช่วง 7 เดือนที่เหลือไม่มีมาตรการอะไรเลย การส่งออกจะติดลบแน่นอน แต่หากสามารถผลักดันมูลค่าการส่งออกได้เดือนละ 24,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปีนี้การส่งออกจะขยายตัวได้ ซึ่งภาครัฐได้ทำงานกับเอกชนใกล้ชิด มีการกำหนดกลยุทธ์เจาะตลาดที่ชัดเจนใน 7 ภูมิภาคทั่วโลก ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงจากตลาดหลักไปยังตลาดอื่นๆ ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง และสินค้าศักยภาพของไทย ทั้งอาหาร และผลไม้ จึงเชื่อว่าการส่งออกในปีนี้จะมีโอกาสขยายตัวตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้
ส่วนการนำเข้าในเดือนพฤษภาคม 2566 ติดลบ 3.4% มูลค่า 26,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ยังติดลบ 2.5% มูลค่ารวม 122,709 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศในเดือนพฤษภาคม ขาดดุล 1,849 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลการค้าในช่วง 5 เดือนแรกของปี ยังขาดดุล 6,365 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น. – สำนักข่าวไทย