กรุงเทพฯ 12 มิ.ย. – นักลงทุน ผู้ถือหุ้นกู้ STARK พบ ก.ล.ต. จี้ตรวจสอบ STARK ไม่มั่นใจส่งงบฯ ทัน 16 มิ.ย. ด้าน ก.ล.ต. รับข้อสังเกตไว้พิจารณา ตรวจสอบตามกฎหมาย กรณีการตรวจสอบบัญชีหากปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ มีข้อกำหนดทั้ง “พัก-เพิกถอน” ใบอนุญาต
นายไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย ภายหลังการรับหนังสือร้องเรียนจากนักลงทุนรายย่อยผู้ถือหุ้นกู้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ว่า นักลงทุนมาขอติดตามความคืบหน้าการทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลของ STARK เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการผิดนักชำระหนี้หุ้นกู้ ซึ่งที่ผ่านมาทาง ก.ล.ต. เองไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่การใช้กฎหมายก็มีข้อจำกัด ซึ่งขณะนี้ทำได้เพียงรอการชี้แจงจากบริษัทที่ประกาศว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นทาง ก.ล.ต. ก็จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ชี้แจงออกมาว่ามีความถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วนตามความเป็นจริงหรือไม่ หากพบว่ายังมีส่วนไหนที่ยังไม่ชัดเจน ก็จะสั่งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นเพิ่มเติม ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ก.ล.ต. เองก็ได้มีการทบทวนบทบาทในการทำหน้าที่ในการตรวจสอบ กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนและปกป้องนักลงทุนอยู่ตลอดมา เพื่อดูว่าต้องมีการปรับปรุงอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
“ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ดำเนินการต่างๆ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และได้ดำเนินการตามสมควรไปแล้ว ซึ่งทางผู้ถือหุ้นกู้ก็เข้าใจ โดยจากนี้ต้องรอดูว่าในวันที่ 16 มิ.ย.2566 ว่าทาง STARK จะเปิดเผยข้อมูล หรือชี้แจงอะไร ซึ่งตามปกติ เมื่อ บจ. มีการเปิดเผยข้อมูลแล้ว ก.ล.ต. ยังเห็นว่าต้องเปิดเผยข้อมูลเพิ่ม ก.ล.ต. ก็จะติดตามให้บจ.เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจ” นายไพบูลย์ กล่าว
สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น ของ STARK มีจำนวน 4,000 รายนั้น ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ที่มายื่นหนังสือนั้นได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีนักลงทุนรายย่อยเข้ามาซื้อหุ้นกู้ของ STARK ทั้งที่หุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่นนั้น เสนอขายแก่นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ ทาง ก.ล.ต. ก็จะมีการดำเนินการตรวจสอบต่อไป หากพบว่ามีการดำเนินไม่ถูกต้อง ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดย ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการประสานทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งตั้งแต่ปลายปี 65 รวมถึงพิจารณาร่วมกันว่า ว่าการกำกับ บจ. มีประสิทธิภาพหรือไม่ ควรต้องยกระดับต้องแก้ไขอะไรหรือไม่
อย่างไรก็ตามในส่วนของการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สอบบัญชีนั้น ทาง ก.ล.ต. มีบทลงโทษผู้สอบบัญชี หากตรวจสอบแล้วพบว่าปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยบทลงโทษนั้น คือ การพักใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต
ทั้งนี้ นักลงทุน STARK รวมตัวกันเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ก.ล.ต. หลังจากเกิดกรณีบริษัทรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงกรรมการบริษัทประกาศลาออกพร้อมกัน 7 คน จากนั้นเลื่อนส่งงบการเงินปี 2565 ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องระงับการซื้อขายชั่วคราว ซึ่งมีผลกระทบต่อนักลงทุน ทั้งผู้ถือหุ้นและหุ้นกู้
ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ ระบุว่า ได้เสนอ ก.ล.ต. 2 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1. ขอให้สตาร์คงดกระทำการในข้อกำหนดสิทธิระหว่างผู้ถือหุ้นกู้กับผู้ออกหุ้นกู้ที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นกู้เสียเปรียบ และ 2. ขอให้ ก.ล.ต.เข้าไปตรวจสอบข้อกล่าวอ้างที่ว่าบริษัท สตาร์ค มีการฉ้อฉลอย่างไรบ้าง เนื่องจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในตลาดทุน
โดยหวังว่า ก.ล.ต.เร่งทำงานขึ้น เนื่องจากหลายคนเดือดร้อน เพราะเงินที่ลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินเก็บ เงินเกษียณ นอกจากนี้ STARK เคยเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือในตลาด มีงบการเงินและมีเรตติ้งที่ดี ทำให้นักลงทุนมั่นใจในการเข้าไปลงทุน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนธรรมดาที่ลงทุนในตลาดรู้สึกไม่มีความปลอดภัย หลังจากนี้ในอนาคตจะกล้าลงทุนได้อย่างไร จึงขอให้ ก.ล.ต. พิจารณาตรงนี้ด้วย ส่วนที่ STARK ระบุจะแจ้งว่าจะมีการประกาศงบการเงินในวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายนนี้ ซึ่งหากไม่มีการนำส่งงบการเงินก็จะถูกหยุดพักการซื้อขายต่อ ทางนักลงทุนผู้ถือหุ้นกู้ ไม่ได้คาดหวังและค่อนข้างที่จะมั่นใจว่า STARK คงจะไม่แจ้งงบให้ทราบ เพราะที่ผ่านมามีการผิดนัดมาโดยตลอด .-สำนักข่าวไทย