กรุงเทพฯ 7 มิ.ย.- EXIM BANK จับมือ NEXI คุ้มครองความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่น ขยายการค้าการลงทุนlสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง JTRO หวั่นค่าแรง ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ประเทศเพื่อนบ้านป้อนชิ้นส่วนThailand+1
นายพสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พร้อมด้วยนายโอบะ ยูอิจิ อุปทูตรักษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “EXIM Thailand and NEXI Collaboration: A New Chapter Begins” EXIM BANK ร่วมกับองค์กรรับประกันแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEXI) เพื่อร่วมมือทางการเงินทั้งสินเชื่อและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง หวังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ด้านการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ปัจจุบันประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่มีศักยภาพสูงด้านการค้าและการลงทุน สปป.ลาว จึดีพีขยายตัวร้อยละ 4.2 กัมพูชา ขยายตัวร้อยละ 4.3 เวียดนามขยายตัวร้อยละ 5.8 อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะแรงงานราคาถูก ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จำนวนผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของชุมชนเมืองและการพัฒนาอุตสาหกรรม เสถียรภาพทางการเมือง และข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีและพหุภาคี จัดทำFTA ถึง 30 ฉบับ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้ประกอบการจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้หลั่งไหลเข้าไปลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงใช้ประเทศเหล่านี้เป็นฐานการผลิตสินค้าและดำเนินธุรกิจบริการ รองรับการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศที่สาม อาทิ จีนและอินเดีย โดยมีผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้าไปเติมเต็มและเชื่อมโยงกับ Supply Chain การค้าโลก
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ก้าวใหม่ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK และNEXI ในโลกการค้ายุคใหม่ จึงมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน ทั้งบริการประกันการส่งออกและการลงทุน และการรับประกันต่อ เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น ขยายผลสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกัน เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอีก 10 ปี ข้างหน้าจะอยู่ที่อาเซียน เมื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน ตลอดจนการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี ทั้งสองหน่วยงาน พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น เริ่มต้นหรือขยายธุรกิจระหว่างประเทศได้มากขึ้นอย่างมั่นใจ EX-IM BANK จะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของธนาคารในการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุน โดยการเติมความรู้ โอกาสทางธุรกิจ และเงินทุน ตลอดจนเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ EXIM BANK ให้บริการประกันการส่งออกตั้งแต่เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537 มีปริมาณธุรกิจรับประกันการส่งออกสะสม 1.82 ล้านล้านบาท ยอดจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนรวม 1,400 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ76 เกิดจากกรณีผู้ซื้อในต่างประเทศปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า รองลงมาร้อยละ 23 เกิดจากผู้ซื้อล้มละลาย และอีกร้อยละ 1 เกิดจากผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า ประเทศที่มีมูลค่ายื่นขอรับสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ สินค้าที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ และอะลูมิเนียม
นายจุนนิชิโร่ คุโรดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าของประเทศญี่ปุ่น (JTRO) กล่าวว่า ผู้ประกอบการญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทย 6,000 บริษัท สัดส่วนร้อยละ 40 เป็นอุตหสากรรมการผลิต เพราะไทยเป็นฐานการผลิตของอาเซียน ในปี 65 ญึ่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยยังแข่งขันกับจีน เนื่องจากญี่ปุ่นมองว่าไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมชิ้นส่วน ญี่ปุ่น พร้อมปรับการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รองรับกระแสตลาดโลก แต่เมื่อไทยยังมีปัจจัยเรื่อง วัตถัดิบแพงขึ้น ค่าแรงเพิ่มขยับจากนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ จึงต้องขยายเครือข่ายการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางตามนโยบายของญี่ปุ่นThailand Plus 1 เนื่องจาก สปปล.ลาว กัมพูชา ค่าแรงถูกว่า และยังมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษรองรับการลงทุนของต่างชาติ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จึงเร่ิมมีความสำคัญกับต่างชาติ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า นโยบายของญี่ปุ่น Thailand Plus 1 เพื่อขยายการลงมทุนไปยัง สปปล.ลาว กัมพูชา ไม่ใช่เป็นการแย่งงาน แต่เป็นการแบ่งงานกันทำ ไทยต้องยกระดับคุณภาพบุคลากร ให้มีคุณภาพแรงงานขั้นสูง ผลิตสินค้าไฮเทค ซับซ้อนมากขึ้น การอับเกรดพื้นที่ภาคอุตสาหกรรม เช่น เขตอีอีซี จะกลายเป็นศูนย์การลงทุนแบบเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการขยายท่าเรือนน้ำลึกแหลมฉบัง มาบตาพุด เมืองการบินภาคตะวันออก โดยรวมมองว่าไทยยังเป็นศูนย์กลางการลงทุนในอาเซียน .-สำนักข่าวไทย