กรุงเทพฯ 29 พ.ค. – ธปท.ชี้สถานการณ์ทุเรียนโลกกำลังเปลี่ยน จีนเริ่มนำเข้าทุเรียนจากประเทศอื่นมากขึ้น ทุเรียนไทยมีคู่แข่งแย่งชิงตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม แนะเตรียมรับมือ ทำตลาดเมืองรองในจีน รักษาคุณภาพผลผลิต และบริหารจัดการโลจิสติกส์
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล โดย ณิชมล ปัญญาวชิโรกุล และ กฤตยา ตรีวรรณไชยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาไทยครองแชมป์ “ผู้ส่งออกทุเรียนอันดับ1ของโลก” โดยเฉพาะในตลาดผู้บริโภคหลักของโลกอย่างจีน ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบทั้งหมด ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2565 มูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยทำสถิติสูงสุดที่ 1.24 แสนล้านบาท ครองแชมป์ผลไม้ส่งออกอันดับ 1ของไทย ทุเรียนไทยเกือบทั้งหมดส่งออกไปตลาดจีนในรูปของทุเรียนผลสด เนื่องจากเดิมไทยเป็นประเทศเดียวที่จีนอนุญาตให้ส่งทุเรียนผลสดไปขาย เมื่อความนิยมบริโภคทุเรียนของจีนเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาทุเรียนปรับตัวสูงขึ้น และเกษตรกรไทยหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น โดยในช่วง10ปี ที่ผ่านมา ราคาทุเรียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 33 บาท เป็น 111 บาท/กก. ส่งผลให้พื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
จีนเป็นผู้บริโภคหลักที่นำเข้าทุเรียนผลสดจากไทยสูงถึง 80% ของปริมาณการนำเข้าทั่วโลก แต่ยังมีโอกาสบริโภคเพิ่มขึ้นได้อีกมาก เนื่องจากอัตราการบริโภคทุเรียนต่อคนของจีนยังไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับประเทศผู้บริโภคทุเรียนอื่นๆขณะที่การขนส่งในจีนดีขึ้น การพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ของจีนอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถกระจายสินค้าไปยังเมืองรองด้านใน และพื้นที่ชุมชนได้มากขึ้น แต่จีนเริ่มเปิดใจกับทุเรียนจากชาติอื่น สายพันธุ์อื่นมากขึ้น จากเดิมที่บริโภคทุเรียนหมอนทองจากไทยเป็นหลัก แต่เมื่อไม่นานนี้ ก็ได้อนุญาตให้เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ส่งทุเรียนผลสดมาขายในจีนเช่นกัน โดยเวียดนามได้รับใบอนุญาตเป็นประเทศที่สองเมื่อ ก.ค. 65และได้ส่งทุเรียนหมอนทองเข้าไปขายในราคาใกล้เคียงกับไทย ทำให้ได้ส่วนแบ่งการตลาดไปกว่า 5% จากเดิมที่ไม่มีเลย ขณะที่ฟิลิปปินส์ได้รับใบอนุญาตล่าสุดเมื่อ ม.ค. 66 และเริ่มส่งทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์ปูยัต เข้าไปให้ชาวจีนได้ลองทาน ทั้งนี้ ประเมินว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า จีนมีโอกาสบริโภคเพิ่มขึ้นอีก 1กก./คน/ปี หรือต้องการทุเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 1ล้านตัน
แนวโน้มการแข่งขันในตลาดทุเรียนโลกรุนแรงขึ้น ทั้งจากไทยที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 8% ต่อปี และประเทศคู่แข่งที่ขยายพื้นที่ปลูกเพื่อบุกตลาดส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดทุเรียนผลสดในจีน ที่หลายประเทศเร่งพัฒนาคุณภาพทุเรียนและต่อคิวขอใบอนุญาตส่งออกทุเรียนสดจากจีนเช่นกัน สำหรับในระยะ 3 ปีนี้ ยังไม่น่ากังวลมาก คาดว่าผลผลิตของคู่แข่งอาจยังเข้าสู่ตลาดจีนไม่มากนัก เนื่องจากต้องใช้เวลาพัฒนาคุณภาพทุเรียน ขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุ และทาการตลาดในจีน หากรวมกับผลผลิตของไทยที่จะเพิ่มขึ้น จะเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับแนวโน้มการบริโภคของจีน แต่ราคาอาจถูกกดดันเป็นบางช่วง โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตไทยและคู่แข่งออกพร้อมกัน แต่ในระยะ5 ปีข้างหน้า น่ากังวลมากขึ้น เมื่อคู่แข่งเริ่มปรับตัวได้ คาดว่าจะมีผลผลิตที่พร้อมส่งออกไปตลาดจีนเพิ่มขึ้นมาก และอาจมากกว่าแนวโน้มการบริโภคของจีน (Oversupply) ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อทั้งการส่งออกและราคาทุเรียนของไทย
ทั้งนี้ ทุเรียนไทยยังได้เปรียบอยู่มาก แต่ต้องไม่ชะล่าใจ ควรร่วมมือกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าทุเรียนไทยกาลังจะเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้นในอนาคต แต่ไทยเองยังมีข้อได้เปรียบคู่แข่งอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องปริมาณผลผลิตที่มีมาก คุณภาพทุเรียนที่เป็นที่ยอมรับ และประสบการณ์ส่งออกไปตลาดจีนที่ยาวนาน ดังนั้น หากทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาทุเรียนไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทำการตลาดในเมืองรองของจีนรวมถึงประเทศอื่น รักษาคุณภาพทุเรียนโดยเฉพาะปัญหาทุเรียนอ่อน ช่วงต้นฤดูกาลผลผลิต ส่งเสริมความรู้เรื่องเทคนิคการปลูกทุเรียนเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และบริหารจัดการเส้นทางขนส่งทุเรียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ก็จะทำให้ไทยสามารถป้องกันตำแหน่ง “แชมป์ส่งออกทุเรียนอันดับ 1ของโลก” ได้ไม่ยาก.-สำนักข่าวไทย