กรุงเทพฯ 15 พ.ค.- สภาพัฒน์ เสนอรัฐบาลใหม่ แนะรัฐวิสาหกิจอัดเงินลงทุน 4 แสนล้านบาท รักษาบรรยากาศการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ เป็นห่วงการส่งออกสินค้าอาการหนัก ย้ำรักษาวินัยการคลังดึงเครดิตประเทศ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ภาระกิจสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ ต้องหาทางฟื้นฟูการส่งออกในปี 66 คาดว่าหดตัวร้อยละ -1.6 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการหาตลาดใหม่ทดแทน การรักษาบรรยากาศการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะแนวทางส่งเสริมการลงทุน การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยายนต์ไฟฟ้า หากรัฐบาลใหม่กำหนดชัดเจน จะดึงดูดการลงทุนไม่เบนเข็มหนีไปลงทุนประเทศอื่นแทน
สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 67 ที่ยังล่าช้าในช่วงการเลือกตั้ง มีอยู่ 2 ทางเลือก คือ แนวทางแรกรัฐบาลใหม่ นำกรอบงบประมาณเดิม 3.55 ล้านล้านบาท หลังจาก 4 หน่วยงานหลัก คลัง ธปท. สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณจัดทำเอาไว้แล้วเบื้องต้นนำมาปรับปรุงเล็กน้อย เพื่อเร่งขับเคลื่อนเงินลงทุน แนวทางที่สอง รัฐบาลนำมาพิจารณาทบทวนทั้งหมด เพื่อประเมินรายได้ รายจ่าย รองรับการหาเสียง ยอมรับว่า การคาดการณ์ปัจจัยต่างๆ ไม่ต่างจากเดิมมากนัก เพราะมีข้อจำกัดหลายด้าน แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่จะเลือกแนวทางไหน เพราะส่วนหนึ่งต้องใช้เงินตามนโยบายที่หาเสียงไว้ สศช. ประเมินจากขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาล คาดว่า งบประมาณลงทุนปี 67 จะอัดเงินเข้าระบบได้ในไตรมาสแรกปีหน้า
ในช่วงการรอเงินลงทุนประมาณรายจ่าย จึงต้องใช้งบลงทุนจากรัฐวิสาหกิจมาอัดฉีดเงินออกสู่ระบบแทน ผ่านการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ใช้งบลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เมื่อทุกรัฐวิสาหกิจเตรียมขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างเอาไว้ เพื่อเสนอ ครม.ใหม่พิจารณาช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม คาดจะมีเงินลงทุนสู่ระบบปลายปีได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐวิสาหกิจจัดทำงบตามปีปฏิทิน เสนอบอร์ดรัฐวิสาหกิจพิจารณาเงินลงทุนและ ครม.ชุดใหม่ได้ช่วงปลายปี 66 คาดว่าเงินออกสู่ระบบได้ 2 แสนล้านบาท เพื่อรอเงินลงทุนจากงบประมาณรัฐบาลที่ยังล้าช้า จากการจัดการเลือกตั้ง
นายดนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายหาเสียง ในการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ทั้งการเพิ่มค่าแรง การเพิ่มต้นทุนด้านต่างๆ อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องผลักภาระไปยังราคาสินค้าเพิ่ม ส่งผลไปยังอัตราเงินเฟ้อเพิ่ม นักลงทุนต่างชาติอาจต้องคิดหนัก ดังนั้น จึงต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ยืนยันว่าเศรษฐกิจผ่านวิกฤติเร่ิมฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 แล้ว ซึ่งหลายประเทศต้องกู้เงินมาเยียวยาเหมือนกับไทย จากนี้ไป ต้องจัดทำนโยบายการเงิน การคลัง นำไปสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุล หากปล่อยให้ขาดดุลงบประมาณเป็นเวลานาน สถานบันระหว่างประเทศจับตาอยู่ อาจกระทบต่อการจัดอันดับเครดิตประเทศ ส่งผลไปยังการกู้เงิน และกระทบอีกหลายด้าน
รัฐบาบชุดใหม่ ยังต้องมุ่งก้าวข้ามปัญหากับดักรายได้ปานกลางของไทย ทั้งการยกระดับพัฒนาฝีมือแรงงาน การให้สวัสดิการรายย่อย ต้องหาทางส่งเสริมการสร้างรายได้ อาชีพเสริม การช่วยเหลือแบบตรงเป้าหมาย เพื่อให้ผู้รับสวัสดิการ หลุดพ้นจากการรับเงินช่วยเหลือเดิมๆ ไม่งั้น จะต้องจัดสรรงบประมาณดูแลเยียวยาไปเรื่อยๆ กระทบต่องบประมาณจำนวนมาก กระทบฐานะการคลังระยะยาว อนาคตข้างหน้ายังมีปัญหาเศรษฐกิจโลก ความขัดแข้งระหว่างประเทศ ไทยจึงต้องทำให้ฐานะมั่นคงแข็งแรงรองรับปัญหาต่างๆได้ในอนาคต
สำหรับเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 66 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ลดจากเดิมไตรมาสแรกปีก่อนขยายตัวร้อยละ 4 การส่งออกชะลอตัวร้อยละ -4.6 ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -3.1 ยังมีปัจจัยบวกจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.4 การลงทุนขยายตัวร้อยละ 3.1 ภาคเกษตรยังขยายตัวร้อยละ 7.2 สาขาการเข้าพักแรมและบริการอาหาร เติบโตร้อยละ 34.4 ส่วนการอุปโภคภาครัฐหดตัวร้อยละ -6.2 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อไตรมาสแรกร้อยละ 3.9 ยังมีสนับสนุนจาการขยายตัวของการบริโภค สภาพัฒน์ จึงปรับจีดีพีค่ากลางจากร้อยละ 2.6 เพิ่มเป็นร้อยละ 2.7 ภายใต้กรอบขยายตัวร้อยละ 2.7 -3.7 คาดการณ์นักท่องเที่ยว 28 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.27 ล้านล้านบาท.-สำนักข่าวไทย