เมืองทองธานี 11 พ.ค. – ประธานบอร์ด ตลท. เชื่อการเงินสีเขียว (Green financing) คือทางรอดและโอกาสเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจ ประเด็น “สิ่งแวดล้อม-สิทธิมนุษยชน” กลายเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจระดับสากล ชี้ภาคการเงิน-การลงทุน ต้องร่วมมือขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมการเงินกรุงเทพ ครั้งที่ 23 MONEY EXPO 2023 BANGKOK ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า โลกกำลังเผชิญปัญหาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมขั้นวิกฤต และเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งปัญหาโลกรวน ความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและคุณภาพประชากร โรคอุบัติใหม่ หรือความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ เชื่อว่าภาคการเงิน การลงทุน สามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนได้มาก เพราะเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ พลังของผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย จะช่วยเร่งแรงสูบฉีด ให้การเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งระบบเกิดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบัน Sustainability กลายเป็นกระแสหลัก การเงินสีเขียว (Green financing) หรือการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable financing) เติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นความหวัง การมีส่วนร่วมของภาคการเงิน การลงทุนในกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ จึงไม่ใช่แค่การทำความดีเพื่อโลก แต่เป็นทางรอดและโอกาสเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม
Green financing หรือ Sustainable financing คือ ความพยายามทำให้สัดส่วนของเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจากการปล่อยสินเชื่อภาคธนาคาร ภาคประกันภัย หรือภาคการลงทุน และยังรวมไปถึงการบริหารจัดการ ลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการทำให้เม็ดเงินเหล่านั้นงอกเงย เป็นผลตอบแทนทั้งทางการเงิน ทางสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส หรือเป็นการนำกรอบ ESG มาใช้พิจารณาตัดสินใจลงทุน ปล่อยสินเชื่อ ดำเนินธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน กลายเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจระดับสากล ขณะเดียวกัน มีโอกาสทางธุรกิจอย่างมากที่มาพร้อมกับ NewSCurve ของเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจสีเขียว หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน
ขณะที่ในประเทศไทย Green หรือ Sustainable financing มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ตราสารหนี้สีเขียว หรือ ตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ GreenBond ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเกือบเท่าตัว จาก 28,706 ล้านบาท มาอยู่ที่ 41,219 ล้านบาท และมีการออกเพิ่มอีก 8,000 ล้านบาท เมื่อต้นปีนี้ เพื่อการลงทุนในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ขณะที่การออกตราสารหนี้เพื่อสังคม หรือ Socialbond นอกจากภาครัฐจะเป็นผู้นำร่อง ภาคเอกชนก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) และหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked bond) ที่นำผลสำเร็จของตัวชี้วัดทาง ESG ของบริษัทผู้ออก มากำหนดการขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยด้วย สะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนนี้ของทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้ลงทุน ขณะที่ในภาคการเงิน มีหลายธนาคารเริ่มใช้ ESG เป็นตัวกรองในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ และที่ดีมากคือ ธนาคารมีกระบวนการเสริมขีดความสามารถด้าน ESG ให้กับธุรกิจคู่ค้าควบคู่ไปด้วย ในภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการ ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนไทยถึง 169 บริษัทที่ใช้กรอบ ESG ในการดำเนินธุรกิจและทำได้ดี จนผ่านเกณฑ์ประเมินด้านความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ขณะที่หน่วยงานหลักอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ผลักดันเรื่องการธนาคารเพื่อความยั่งยืนอย่างชัดเจน และกำลังจัดทำมาตรฐานกลางที่กำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม หรือ Taxonomy ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน เพื่อทำให้กลไกการตลาดทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น และลดปัญหาเรื่อง Greenwashing ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เปิดระบบ ESG Data Platform เพื่อรวมศูนย์ข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน สร้างความโปร่งใสของข้อมูล คุณภาพมาตรฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบ และประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ลงทุน และยังทำเรื่อง FinancialLiteracy ให้สังคมวงกว้างมายาวนานต่อเนื่อง เพื่อการมีส่วนร่วมในการลงทุนอย่างยั่งยืน ดังนั้น เชื่อว่ากลไกทางการเงิน การลงทุน การประกอบการของภาคธุรกิจ และการเลือกบริโภคและลงทุนของภาคประชาชน เป็นหัวใจและแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาที่พลิกสถานการณ์ปัญหาสู่ความยั่งยืนได้. – สำนักข่าวไทย