ทำเนียบรัฐบาล 30 พ.ค. – ครม.เห็นชอบเพิ่มทุนไอแบงก์ 18,000 ล้านบาท กำชับเร่งหาพันธมิตรใหม่ภายใน มิ.ย.นี้ นายกรัฐมนตรีสั่งหาผู้กระทำผิดฉุดแบงก์เสียหาย
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับโครงสร้างทางการเงินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดทางให้กระทรวงการคลังถือหุ้นเกินสัดส่วนร้อยละ 49 เมื่อกระทรวงการคลังต้องเพิ่มทุนเป็น 18,100 ล้านบาท กระทรวงการคลังจึงต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จากเดิมมีธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ร่วมถือหุ้น เพื่อนำเงินมาล้างขาดทุนสะสม 28,278 ล้านบาท BIS Ratio จากเดิมติดลบร้อยละ 30.60 จากมาตรฐานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) BIS ร้อยละ 8.5 จึงลดราคาหุ้นให้เหลือ 1 สตางค์ต่อหุ้น เพื่อให้ส่วนของทุนอยู่ในระดับที่ไม่ติดลบ สำหรับแหล่งเงินในการเพิ่ม คือ เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงการคลัง 2,000 ล้านบาท เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจในส่วนที่เหลือ
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ในส่วนหนี้ที่ไม่ใช่ลูกค้ามุสลิม พร้อมหลักประกัน โดยให้บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) รับโอนหนี้เพื่อบริหาร NPF ยกเว้นแต่ยอดหนี้ NPF ในโครงกรที่รัฐบาลจะชดเชยความเสียหาย โดยกำหนดราคาโอนในมูลค่าตามบัญชีสุทธิ ณ วันโอนสินทรัพย์ และยังอนุมัติให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับ IAM เพื่อชดเชยต้นเงิน ดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และสำรองเพื่อการดำเนินงานในส่วนที่เกินจากรายรับแต่ละปี โดยให้ IAM ดำเนินการขอจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ เพื่อชำระเงินดังกล่าว หวังแก้ปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 และเริ่มสูงขึ้นในปี 2557 มี NPF สูงถึง 47,878 ล้านบาท หรือร้อยละ 43.40 ของจำนวนสินเชื่อทั้งหมด และมีผลขาดทุนสะสมถึง 28,278 ล้านบาท จึงต้องเลือกแนวทางการโอนหนี้ดีไปบริหาร เพราะหากเลือกแนวทางการปิดแบงก์ต้องชดเชยเงินฝากนับแสนล้านบาท และการดูแลพนักงานต้องใช้เงินอีกจำนวนมาก
“นายกรัฐมนตรีกำชับในที่ประชุม ครม.สั่งการให้ไอแบงก์เร่งหาผู้กระทำความเสียหายเกิดขึ้นกับธนาคาร ห้ามนำชื่อนายกรัฐมนตรีไปแอบอ้างว่าเป็นคนสนิทหรือเป็นเพื่อนโดยเด็ดขาด” นายณัฐพร กล่าว
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.กำชับให้สรรหาพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าร่วมลงทุนกับไอแบงก์กำหนดให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ กระทรวงการคลังจึงกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ของไอแบงก์ใหม่ มุ่งออกผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ รองรับการปล่อยสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ในโครงการเกิน 200 ล้านบาท โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ การลดค่าใช้จ่ายขององค์กรไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี การปรับลดจำนวนสาขาที่มีศักยภาพน้อย การปรับลดจำนวนพนักงานบางส่วน เพื่อดูแลรักษาหนี้เสียให้ลดลงไม่เกินร้อยละ 6 ของสินเชื่อรวม จึงคาดว่าการปรับโครงสร้างองค์กรจะทำให้ไอแบงก์ปรับตัวดีขึ้น. – สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images/1496135040933.jpg)