กรุงเทพฯ 1 มี.ค.- วันนี้ ราคาแอลพีจีขึ้นอีก 1 บาท/กก. พบชาวบ้านแห่นำถังก๊าซฯไปเติมน้ำก๊าซฯที่ปั๊ม ธพ.แจ้งเตือนเสี่ยงอันตราย-ผิด กม.
ในวันนี้ ( 1 มี.ค.) ราคาก๊าซหุ้งต้ม(แอลพีจี)ขยับขึ้นอีก 1 บาท /กก.ตามคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ส่งผลให้ราคาก๊าซฯขนาด 15 กก. ปรับราคาจาก 408 บาท ขึ้นเป็น 423 บาทต่อถัง มีผลตั้งแต่ 1-31 มีนาคม 2566 เป็นผลจากราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกผันผวน ราคาตลาดโลกคิดเป็นราคาไทยปัจจุบันสูงถึง 543 บาทต่อถัง 15 กก. มีผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนแอลพีจีเพิ่มขึ้น ล่าสุด ภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบัญชีแอลพีจี ติดลบเพิ่มต่อเนื่อง ณ.วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 46,095 ล้านบาท ในขณะที่ กบง.กำหนด เพดานการติดลบของแอลพีจีอยู่ที่ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ช่วงผลกระทบโควิด-19 กบง.ได้มีการปรับลดราคาและตรึงราคาแอลพีจี ที่ 318 บาท/ถังขนาด 15 กก.มาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยลดภาระประชาชน และเริ่มทยอยขยับขึ้นมาครั้งละ 1 บาท/กก.ตั้งแต่ เดือนเม.ย. 65 จนมาถึงวันนี้(1 มี.ค.66)ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กก.
นายนรุตม์ ภัทรชัยพร นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) เปิดเผยว่า จากราคาก๊าซภาพครัวเรือนที่ขยับขึ้นต่อเนื่องทำให้ มีผู้ต้องการลดต้นทุนโดยนำถังก๊าซไปเติมก๊าซฯที่ปั๊มจำหน่ายก๊าซ สมาคมฯจึงขอเรียกร้องให้ ให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลเพราะผิดกฏหมายโดยระเบียบกำหนดไว้ชัดว่าปั๊มLPGจะต้องเติมให้กับถัง LPG สำหรับรถยนต์เท่านั้น และที่สำคัญวิธีการดังกล่าวไม่ปลอดภัยและเป็นอันตรายต่อผู้ไปเติมและปั๊มเองด้วยเพราะถังดังกล่าวอาจจะไม่ได้ถูกเวียนนำไปบำรุงรักษา โดยปัจจุบันร้านค้าปลีก LPG ทั่วประเทศมีราว 3 หมื่นแห่ง
“ราคาก๊าซแอลพีจีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนบางส่วนที่มีรายได้น้อยหันไปเติมในปั๊มLPGแทนเพราะสามารถจ่ายเงินตามที่พอมีเช่น 100-200 บาทต่อครั้งไม่อาจซื้อเต็มถังที่ราคาแพงได้ที่ต้องจ่ายแต่ลดครั้ง 423 บาท ก็อยากให้รัฐช่วยกำชับดูแลให้ทุกฝ่ายทำตามกฏหมาย”นายนรุตม์ กล่าว
ด้านกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) แจ้งเตือนว่า กรณีผู้ใช้ก๊าซหันไปเติมก๊าซหุงต้มในสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) แทน เพราะสามารถเติมก๊าซได้ตามจำนวนเงินที่ต้องการ ทำให้พบการกระทำผิดจากการลักลอบเติมก๊าซLPG ลงถังก๊าซหุงต้มในสถานีบริการก๊าซ LPG เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการกระทำนี้มีความผิดตามกฎหมาย ที่กำหนดว่า “ไม่ให้มีการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวลงในถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวหุงต้มภายในสถานีบริการ” และต้องมีป้ายข้อความ“ห้ามบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวลงในถังก๊าซหุงต้ม หากฝ่าฝืนมีความผิด” แสดงไว้บริเวณตู้จ่าย
โดยการกระทำผิดดังกล่าว จะมีโทษตาม พ.ร.บ. ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 มาตรา 66 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ใดประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 โดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 7 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวนอกจากจะมีความผิด มีโทษตามกฎหมายแล้ว ยังก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในสถานีบริการทั้งในระหว่างการเติมก๊าซ และการนำไปใช้ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อการใช้งานอันเนื่องมาจากใช้ถังก๊าซหุงต้มที่ไม่ได้ตรวจสอบและบำรุงรักษา ซึ่งกรมธุรกิจพลังงาน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กวดขันและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการสถานีบริการทราบแล้ว.-สำนักข่าวไทย