กรุงเทพฯ 28 ก.พ. – SUPER เชื่อมั่นหลังเลือกตั้งรัฐเปิดรับซื้อพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy : RE) อีก 5 พันเมกะวัตต์ ตามกระแส NET ZERO ครอบคลุมการค้าการลงทุน ลุ้นชัย RE อีก 363 เมกะวัตต์ ในการประกาศรับซื้อของ กกพ.ที่คาดว่ารู้ผล มี.ค.นี้
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SUPER ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มองว่าจากที่โลกเข้าสู่แผนงาน NET ZERO มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในรูปแบบต่างๆ การลงย้ายฐายการลงทุนมายังไทยบริษัทข้ามชาติ จึงตั้งเป้าหมายใช้พลังงานสะอาดรองรับการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่า รับบาลไทย จะประกาศรับซื้อ เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความความคิดเห็น (ร่าง) หลักเกณฑ์ การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff หรือ UGT) ประกอบกับต้นทุนค่าไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่ำกว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิล โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้นมาก ก็คาดว่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะเป็นทางเลือกเพิ่มมากขึ้น
“ค่าไฟฟ้าในระบบขณะนี้ อยู่ที่ราว 5-6 บาท/หน่วย จากราคาก๊าซฯ ที่แพง แต่พลังงานหมุนเวียนที่รัฐบาลรับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์ โซลาร์ ให้ FiT อยู่ที่ 2.18 บาท ,โซลาร์ + แบต FiT อยู่ที่ 2.84 บาท และลม FiT อยู่ที่ 3.10 บาท ราคาถูกกว่า ไม่ว่ารัฐบาลไหนมา ก็ต้องส่งเสริมรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งสะอาดและต้นทุนถูกกว่า” นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า บริษัทลุ้นผลการประมูลภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565 – 2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ตามการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) บริษัท ได้ร่วมยื่นประมูล 3 ประเภทเชื้อเพลิง แบ่งเป็น โครงการ โซลาร์ฯ + แบตเตอรี่ ยื่นไป 19 โครงการ เบื้องต้นผ่านเกณฑ์คุณสมบัติฯ แล้ว 16 โครงการ กำลังผลิตรวม 333.74 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างรอผลยื่นอุทธรณ์อีก 3 โครงการ ,โครงการลม 5 โครงการ ยังไม่ผ่านการคัดเลือกและอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และโครงการขยะอุตสาหกรรม ยื่น 3 โครงการ ไม่ผ่านเกณฑ์ฯ แต่ยื่นอุทธรณ์กลับมาได้ 30 เมกะวัตต์ คาดว่าโครงการที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์จะทราบผลภายใน 5 มี.ค.และจะรู้ผลประมูลที่ชัดเจนภายในปลายเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งหากบริษัท ชนะการประมูล กำลังการผลิตรวมประมาณ 363.74 เมกะวัตต์ ก็คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีก 20,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการทยอยลงทุนตามแผน COD ในช่วงปี 2567-2572
สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์ ของภาครัฐ คาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3แสนล้านบาทในช่วง 6 ปี เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้าง, โรงงานเหล็ก ,สายไฟฟ้า,ปูนซีเมนต์ การซื้อขาย/เช่าที่ดิน การจ้างงาน เป็นต้น ตลอดจนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยปัจจุบัน ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯต่อเมกะวัตต์ อยู่ที่ประมาณ 20-23 ล้านบาท ต้นทุน แบตเตอรี่ ที่ปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 3-3.5 แสนดอลลาร์ฯต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง หรือ ราว 10 ล้านบาท แพงขึ้นจากก่อนหน้านี้ ตามทิศทางความต้องการใช่รถอีวี ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่เชื่อว่า ในอนาคตต้นทุนแบตเตอรี่จะถูกลงได้ จากเทคโนโลยีการผลิตและวัสดุที่เปลี่ยนไป โดยจะมีการผลิตจากเกลือ หรือ โซเดียม เข้ามามากขึ้น จากเดิมจะผลิตจากลิเทียม .-สำนักข่าวไทย