กรุงเทพฯ 21 ก.พ.- สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือน ม.ค. ชะลอตัวลงหลังเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อีกทั้งมีความกังวลจากต้นทุนอาหารสดที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล รวมถึงกลุ่มพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอีกครั้ง
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนมกราคม 2566 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า อยู่ที่ระดับ 53.9 ลดลงจากระดับ 55.7 เนื่องจากกำลังซื้อชะลอตัวลงในช่วงปลายเดือนมกราคม หลังจากพุ่งสูงขึ้นในช่วงเทศกาล และกังวลด้านต้นทุนเพิ่มอีกครั้งในทุกภูมิภาค องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนี SMESI เดือนมกราคมลดลง ได้แก่ กำไร คำสั่งซื้อโดยรวม ต้นทุน และการจ้างงาน ซึ่งมีความเชื่อมั่นลดลงอยู่ที่ระดับ 58.8 63.4 38.0 และ 50.0 ตามลำดับ ขณะที่องค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ และการลงทุน ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ค่าดัชนีฯ ส่วนใหญ่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน แต่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับค่าฐาน ยกเว้นต้นทุนที่เริ่มมีแนวโน้มปรับลดลงจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง
เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการบริการ มีค่าดัชนี SMESI ลดลงสูงสุดอยู่ที่ 54.4 จาก 57.5 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในทุกกิจกรรม เนื่องจากการสิ้นสุดลงของเทศกาลวันหยุดยาว ในขณะที่บริการซ่อมบำรุงและกิจกรรมสันทนาการปรับตัวดีขึ้น รองลงมาคือ ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 53.4 จากระดับ 55.0 ชะลอตัวลงทั้งภาคการค้าปลีกและค้าส่งในหลายพื้นที่ และกำลังซื้อที่ได้จากนักท่องเที่ยวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ผู้ประกอบการภาคการค้าปลีกบางรายเริ่มปรับจำนวนสินค้าในสตอกลง จากต้นทุนที่สูงขึ้น ภาคการเกษตร ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 52.1 จาก 53.0 ชะลอตัวลงจากสถานการณ์ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวสำคัญได้ผลผลิตน้อยลง รวมถึงผลผลิตในกลุ่มปาล์มและยางพาราที่ราคาอยู่ในระดับต่ำ ส่วนภาคการผลิต ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 53.8 จากระดับ 54.3 ชะลอตัวลง แม้ในหลายธุรกิจจะมีการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อสะสมสินค้าคงคลังไว้ขายในช่วงเวลาถัดไป แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการยังเผชิญความกังวลด้านต้นทุน ทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าสินค้าวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 53.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 55.2 โดยเฉพาะภาคบริการและภาคการผลิตที่กังวลต่อกำลังซื้ออาจลดลงในอนาคต รวมถึงปัจจัยด้านต้นทุนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย