กรุงเทพฯ 11 ก.พ.- ยสท. เร่งปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย เตือนนำบุหรี่ปลอมปะปนขายกับบุหรี่จริง ห่วงรัฐสูญเสียรายได้มหาศาล เดินหน้าพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หวังสร้างรายได้เพิ่ม
นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวว่า ภายหลังการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต 2560 และ 2564 ส่งผลให้บุหรี่ในประเทศราคาปรับสูงขึ้นจากเดิมอย่างมาก โดยบุหรี่ จากเดิมขายราคา 51 บาท เพิ่มเป็น 60 บาท และ 66 บาท เมื่อราคาปรับสูงขึ้น ทำให้ปัญหาลักลอบนำบุหรี่เถื่อน ทั้งบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. และบุหรี่หนีภาษี นับว่าราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศหลายเท่าตัวเข้ามาจำหน่ายในประเทศจำนวนมาก สวนทางกับนโยบายปรับเพิ่มภาษียาสูบเพื่อลดการบริโภคยาสูบในประเทศ
ยอมรับว่า ยสท. ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตราเครื่องหมายการค้าอย่างมาก ตั้งแต่ 2541 จนถึงปัจจุบัน มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. จากประเทศเพื่อนบ้าน ตามแนวชายแดน ร้านค้าปลีกลักลอบนำไปจำหน่ายปะปนกับบุหรี่จริง และขายในราคาเท่ากับบุหรี่จริง แม้ว่า ยสท. ได้ทำจุดตรวจสอบที่ซองบุหรี่เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ในการตรวจสอบ แต่ไม่สามารถสื่อสารโดยตรงไปยังผู้บริโภคได้ เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมาย ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2560 ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่ทราบข้อมูลและตกเป็นเหยื่อในการบริโภคบุหรี่ปลอม สำหรับบุหรี่หนีภาษีราคาถูก ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ การค้าบุหรี่หนีภาษีทำเป็นขบวนการใหญ่ เปิดร้านจำหน่ายอย่างเปิดเผยไม่เกรงกลัวกฎหมาย หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและจริงจัง จะทำให้ธุรกิจการค้าบุหรี่หนีภาษีเติบโตขยายตลาดการเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ทำให้รัฐสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล
ยสท. มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย คือ สำนักป้องกันบุหรี่ผิดกฎหมาย มีคณะอนุกรรมการกำกับดูแลบริหารการป้องกันและปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย แต่งตั้งจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ทหาร ตำรวจ ปปง. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำกับควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ปัญหายังคงทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ค้าสามารถเข้าถึงและซื้อบุหรี่ปลอมมาจำหน่ายได้หลากหลายช่องทาง ทั้งผ่านช่องทางออนไลน์และการส่งสินค้าผ่านระบบโลจิสติกส์ ซึ่งผู้บริโภคและร้านค้าสามารถเข้าถึงบุหรี่ผิดกฎหมายได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ทำให้ตกเป็นเหยื่อในการบริโภคบุหรี่ปลอมที่เจือปนสารนอกเหนือการควบคุมเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวว่า เพื่อหารายได้เพิ่ม ยสท. จึงได้นำทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์มาจัดหาประโยชน์ สร้างรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน ยสท. มีแปลงที่ดิน 150 แปลง เป็นกรรมสิทธิ์ ในเขตพื้นที่ 15 จังหวัด รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 6,003 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ มหาสารคาม เพชรบูรณ์ สุโขทัย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด หนองคาย นครพนม และบึงกาฬ คณะกรรมการ ยสท. มีมติให้นำอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือ 2,000 ไร่ จากทั้งหมด 6,003 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนผังระบบและจัดการข้อมูลแยกส่วน แยกประเภทตามผู้ใช้งาน คาดว่าสามารถใช้งานระบบได้เต็มรูปแบบภายในเดือนเมษายน 2566 นี้ พร้อมทั้งได้จัดทำหน้าเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของ ยสท. โดยผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร แสดงความประสงค์ หรือสอบถามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์การยาสูบแห่งประเทศไทย www.thaitobacco.or.th
ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ยึดหลัก “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านสังคม เศรษฐกิจ ยสท. จึงได้นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดในด้านทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร ในปี 2566 ยสท. เตรียมปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยเปลี่ยนสำนักงานโครงการย้ายโรงงานผลิตยาสูบสวนอุตสาหกรรมโรจนะ มาเป็นสำนักการพัฒนายั่งยืน เนื่องจากเสร็จสิ้นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและย้ายโรงงานผลิตยาสูบแล้ว โดยสำนักการพัฒนายั่งยืนจะเป็นหน่วยงานของ ยสท. ที่ดูแลและดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้องกับ BCG Model โดยตรง.-สำนักข่าวไทย