กรุงเทพฯ 24 ม.ค. – ออมสิน ปลื้ม Social Bank ไม่ถึง 3 ปี ช่วยเหลือ 16 ล้านคน เม็ดเงินกว่า 47,500 ล้านบาท นำส่งเป็นรายได้เข้าคลัง 17,349 ล้านบาท สูงสุดอันดับ 4 ของรัฐวิสาหกิจ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารออมสินได้เปลี่ยนมาสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคมเต็มรูปแบบ ตั้งแต่กลางปี 2563 ระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี มีผู้ได้รับประโยชน์เป็นรูปธรรมผ่านโครงการต่าง ๆ มากถึง 16 ล้านคน เม็ดเงินช่วยเหลือกว่า 47,500 ล้านบาท ผ่านมิติความช่วยเหลือ 3 ด้าน ได้แก่
1) มิติการช่วยลดต้นทุนการกู้ สร้างแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำและเป็นธรรม ผ่านโครงการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โครงการลดดอกเบี้ยสินเชื่อครู โครงการดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด ทำให้ประชาชนมีทางเลือกการกู้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง คิดเป็นส่วนต่างดอกเบี้ยกว่า 32,800 ล้านบาท
2) มิติการช่วยลดภาระของลูกหนี้ ทั้งการออกมาตรการพักชำระหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงวิกฤติโควิด-19 แม้ทำให้ธนาคารมีรายได้ลดลงกว่า 10,700 ล้านบาท จากการหยุดรับรู้รายได้ดอกเบี้ย
และ 3) มิติการช่วยสนับสนุนงบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท เพื่อสังคม เช่น โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ และโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบแนวคิด ESG
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ธนาคารมียอดสินทรัพย์รวม 3.1 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2562) มีเงินฝากรวม 2.6 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.7% จากปี 2562) มีสินเชื่อรวม 2.29 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6.7% จากปี 2562) อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ร้อยละ 17.69 ขณะเดียวกัน ธนาคารยังสามารถควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ให้อยู่ที่ร้อยละ 2.55 ต่ำกว่าเป้าหมายควบคุม และมีเงินสำรองเพื่อรองรับความเสียหายจากหนี้เสีย รวม 101,878 ล้านบาท แตะระดับแสนล้านบาทครั้งแรกเป็นประวัติการณ์ ช่วยเสริมแกร่งให้ธนาคารมีความมั่นคงในระยะยาว คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPLs (Coverage Ratio) สะท้อนความมั่นคงมีเสถียรภาพของธนาคารที่ระดับร้อยละ 174.28 มีกำไรที่เหมาะสม รวม 27,126 ล้านบาท นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 17,349 ล้านบาท สูงสุดอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง
สำหรับในปี 2566 ธนาคารออมสินมีแผนยกระดับการสร้างผลกระทบเชิงบวก Social Impact ผ่านมิติการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1) สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ผ่านบริการสินเชื่อที่ดิน “มีที่ มีเงิน” และบริการ Digital Lending ทั้งส่วนที่ให้บริการผ่านแอปฯ MyMo และให้บริการผ่าน Non-Bank ที่จะเปิดตัวครั้งแรกในปี 2566 นี้ 2) พัฒนาศักยภาพให้เข้มแข็งและยั่งยืน ผ่านการสร้างผู้ประกอบการ สร้างชุมชนเข้มแข็ง และการสร้างความมั่นคงยามเกษียณแก่ประชาชน และ 3) การบูรณาการแนวคิดเพื่อสังคมลงในภารกิจสำคัญของธนาคาร สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบ SDGs. – สำนักข่าวไทย