นนทบุรี 18 ม.ค.-หลายหน่วยงานนัดหมายลงพื้นที่ตรวจสอบนอมินีหลายชาติรวมทั้งจีนที่ลงทุนธุรกิจในไทยว่าผิดกฎหมายและระเบียบใดหรือไม่ แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะได้รับข้อเท็จจริงแต่จะทำเต็มที่ โดยรอบปีงบประมาณ 66 หลายธุรกิจสงสัยกว่า 400 ราย เตรียมเรียกมาชี้แจง ชี้ตลอด 8 ปี ส่งรายชื่อเข้าข่ายนอมินีแล้ว 66 ราย ย้ำหากจะให้หมดไปต้องได้รับความร่วมมือคนในพื้นที่แจ้งเบาะแสทุกหน่วยงานจะได้ตรวจสอบเชิงลึกได้
นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าวว่าการตรวจสอบนอมินีคนต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่ลงทุนธุรกิจในไทย นั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนงานที่จะลงพื้นที่ร่วมกัน โดยกรมฯจะเน้นดูการจดทะเบียนนิติบุคลของบุคคลต่างด้าวหลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีนป้องกันปัญหานอมินี โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว เยาวราช ห้วยขวาง ลงทุนธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะลงพื้นที่ปูพรมในเร็วๆนี้
อย่างไรก็ตาม กรมฯจะดูว่าการเข้ามาทำธุรกิจของนิติบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวว่ามีบริษัทใดที่เข้าข่ายถือหุ้นแทนคนต่างด้าวหรือนอมินี แต่ยอมรับว่าการตรวจสอบเป็นเรื่องที่ยากและลำบากพอสมควร เนื่องจากแม้ช่วงที่เข้ามาเนินธุรกิจถูกต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย แต่หลังจากบริหารจริงมักจะเป็นบุคคลที่ลงทุนทั้งหมดจะเป็นคนบริหารจริง แต่มีการแจ้งส่วนราชการไปในอีกทางหนึ่ง ดังนั้น หากจะให้ได้ผลต้องอาศัยการแจ้งเบาะแสผู้เกี่ยวข้องข้อหรือคนในพื้นที่จะทำให้กรมฯจะตรวจสอบจากฐานข้อมูลการถือหุ้นของคนไทยและต่างด้าวได้อย่างเต็มที และจากข้อมูลพบว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มอาศัยวีซ่านักท่องท่องเที่ยวเข้ามาทำธุรกิจ
ส่วนใหญ่ด้านท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านอาหาร สปา รถทัวร์ โรงแรม ร้านค้าอสังหาริมทรัพย์
“กรมฯ ให้ความสำคัญกับการประกอบธุรกิจของคนไทยและที่ผ่านมามีการลงพื้นที่ตรวจสอบทุกปี ดังนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เช่น กรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อเฝ้าระวังพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น เยาวราช ห้วยขวาง พัทยา ภูเก็ต เกาะสมุย เชียงใหม่และเชียงราย หากพบพฤติกรรมที่อาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดนอมินี กรมฯ จะส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวน และหากพบว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายการกระทำความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ก็จะดำเนินตามกฎหมายเช่นกัน” นายจิตรกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีงบประมาณ ก็พบข้อมูลสงสัยและเชิญบริษัทต่างชาติเข้ามาชี้แจงต่อกรมฯปีละไม่ต่ำกว่า 400-500 ราย โดยตั้งแต่ปี 2558-2565 กรมฯได้ดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับนอมีนีแล้วจำนวน 66 ราย ซึ่งได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายไปแล้ว แต่หากดูตั้งแต่เดือนมีนาคม 2543 จนถึงเดือนธันวาคม 2565 มีการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจ 13,915 ราย โดยเป็นการออกใบอนุญาต 6,279 ราย ออกหนังสือสนธิสัญญา 2048 ราย ออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจตามที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 5,588 ราย ขณะเดียวกันคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตและหนังสือรับรองมีการแจ้งเลิกประกอบธุรกิจและถูกเพิกถอนใบอนุญาต 3,509 ราย คงอยู่ 10,406 ราย เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย