กรุงเทพฯ 11 พ.ค. –“พลังงาน” ถกแนวทางตั้งคณะกรรมการศึกษาจัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”สัปดาห์ยันเสร็จภายใน 60 วันพร้อมเสนอ กพช. 15 พ.ค.นี้
กำหนดแนวทางจัดสรรโควตาโซลาร์ราชการที่เหลือ 300 เมกะวัตต์
พล.อ.อนันตพร
กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า
ในสัปดาห์หน้ากระทรวงพลังงานจะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา 2-3
แนวทาง ในการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อดีและข้อเสียการจัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”
(NOC) หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)
เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้นำเสนอผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
(พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ….และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
พ.ศ….ที่ผ่านการเห็นชอบ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ “ถอน” มาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้ง NOC เมื่อมีความพร้อมออกไปไว้ในข้อสังเกตนั้น พร้อมสั่งการให้กระทรวงพลังงาน
ไปดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการ ขึ้นภายใน 60 วัน ดังนั้น
ครม.จึงมอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปดำเนินการตามคำสั่งของ สนช.
ส่วนกรณีเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
(คปพ.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม
ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสอง หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา
77 ได้กำหนดว่าก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ
รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
และเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชนนั้น
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน
ยืนยันจะเดินหน้าเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งที่จะหมดอายุในปี 2565-2566
คือเอราวัณและบงกช ตามขั้นตอนต่อไป โดยขณะนี้ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การเปิดประมูล ว่าแต่ละแหล่งจะเข้าเกณฑ์ระบบใด ทั้ง ระบบสัมปทาน
ระบบแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) และระบบจ้างผลิต(เอสซี) คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 15 วัน
จากนั้นจะเสนอให้ครม.พิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไข(ทีโออาร์)การเปิดประมูลภายในเดือนมิ.ย.นี้ แม้การเปิดประมูลทั้ง 2 แหล่ง
จะเลื่อนออกจากกำหนดการเดิม 1-2 เดือน
แต่ถือว่าเป็นไปตามแผนและไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของเอกชน
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า
การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)วันที่ 15 พ.ค.นี้ กระทรวงพลังงาน
เตรียมรายงานความคืบหน้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม)สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์การเกษตร
ระยะที่ 2 จำนวน 219 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดประมูลเดือนมิ.ย.นี้
และยังเหลือโควตาโซลาร์ราชการอีก 300 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้จะต้องรอฟังนโยบายจาก
กพช.ว่าจะพิจารณาจัดสรรอย่างไร
นอกจากนี้จะรายงานสถานกาณ์การจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)และความต้องการใช้ในภาพรวมของประเทศ
รวมถึงการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติ
โดยเฉพาะการเปิดให้บุคคลที่สามเข้ามาใช้บริการสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)และการเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบก
ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shippers)รายใหม่
สามารถเข้าใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานของกิจการก๊าซธรรมชาติได้
ซึ่งจะต้องขอความชัดเจนในการกำหนดหลักเกณฑ์ระหว่างผู้ประกอบการที่มีสัญญาจัดหาก๊าซฯอยู่เดิม
กับกลุ่มผู้ประกอบการที่นำเข้าก๊าซฯใหม่ ว่าจะมีการจัดแบ่งแยกอย่างไรให้เหมาะสม
ส่วนการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี
2015 )ปี2558-2579 นั้น
ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าจะต้องปรับในส่วนใด
รวมถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 40%
โดยเบื้องต้น อาจรายงานความคืบหน้าใน กพช.รับทราบด้วย
พล.อ.อนันตพร ยังร่วมเปิดงาน “Thailand Energy Efficiency Week 2017″ ที่จัดขึ้นภายในอาคารชาเลนเจอร์ อินแพ็ค เมืองทอธานี
ระหว่างวันที่ 11-13 พ.ค.นี้ ซึ่งมีผู้ประกอบการจากทั่วโลกร่วมนำเสนอเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงาน
กว่า 400 ราย คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินสะพัดจากการเจราจับคู่ธุรกิจไม่ต่ำกว่า 1
พันล้านบาท จากปีที่ผ่านมา มีเม็ดเงินอยู่ที่ 800 ล้านบาท โดยปีนี้
ผู้ประกอบการจำหน่ายหลอดไฟประหยัดพลังงาน(แอลอีดี) ตั้งเป้ายอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ
25 จากความนิยมของประชาชน ที่ใช้เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาปรับลดลงร้อยละ 20 ต่อปี
และการใช้งานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น. – สำนักข่าวไทย