กรุงเทพฯ 29 ธ.ค.-กอน. ถกปรับโครงสร้างกบ.-เคาะราคาอ้อย ผวาหีบอ้อย 27 วัน ลอบเผาอ้อยพุ่งสูงถึง 4 ล้านตัน กังวลฝุ่นพิษเริ่มรุนแรงหลายพื้นที่ กทม.
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้จัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลชาวไร่ ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมทั้งเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศที่เกิดจากการเผาอ้อย สำหรับวาระหลักในการประชุมอ การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร (กบ.) เพื่อให้ กบ. สามารถจัดประชุมวาระสำคัญในวันที่ 4 มกราคม 2566 ได้แก่ การเคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตปี 2564/65 และหากองค์ประกอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565/66 ครบถ้วนแล้ว จะพิจารณากำหนดราคา และรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียเพื่อเสนอที่ประชุม กอน. พิจารณานัดถัดไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กอน. ได้เน้นย้ำถึงชาวไร่และโรงงานน้ำตาลให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศที่เกิดจากการเผาอ้อย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดเป้าหมายลดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็น 0% เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทยกว่า 60 ล้านคนในช่วงที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 และยังเป็นการหนุนภาคเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว โดยล่าสุดได้เพิ่มเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จาก 20 ล้านคนเป็น 25 ล้านคนแล้ว ซึ่งจากการติดตามข้อมูลการหีบอ้อยฤดูการผลิต 2565/66 อัพเดตสถานการณ์ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 – 27 ธันวาคม 2565 พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 15 ล้านตัน จำนวนนี้เป็นอ้อยถูกลักลอบเผาสูงถึง 4.1 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 27.36% ซึ่งมากกว่าฤดูการผลิตปี 2564/2565 ที่มีสัดส่วนอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 27.28% จากสัดส่วนการลักลอบเผาอ้อยที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤต ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพประชนชนและบรรยากาศของภาคการท่องเที่ยว
จากข้อมูลลักลอบเผาช่วง 28 วันที่เปิดหีบ พบว่ามี 5 จังหวัดที่เผาอ้อยสูงสุด คือนครราชสีมา 6.7 แสนตัน กาฬสินธุ์ 4.2 แสนตัน อุดรธานี 4.1 แสนตัน ขอนแก่น 3.5 แสนตัน และหนองบัวลำภู 2.6 แสนตัน โดยศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 พบว่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีค่าเกินมาตรฐานมากถึง 13 พื้นที่ ปริมาณฝุ่นที่พบ 31-69 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) บ่งชี้ว่าสภาพอากาศของกรุงเทพมหานครเริ่มแย่ลง ขณะที่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ สอน. ได้ประสานข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการติดตามสถานการณ์การลักลอบเผาอ้อนซ้ำซากรายพื้นที่และใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ลักลอบเผาอ้อย ขณะเดียวกัน สอน. จะเชิญโรงงานน้ำตาลมาหารือร่วมกัน เพื่อหามาตรการในการสนับสนุนไม่ให้มีการลักลอบเผาอ้อย อันเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เริ่มมีความรุนแรงในเวลานี้.-สำนักข่าวไทย