กรุงเทพฯ 28 ธ.ค.- ลุ้น แบงก์ขยับขึ้นดอกเบี้ย หลังมาตรการลดเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ ร้อยละ 0.46 ต่อปี ตั้งแต่ 1 ม.ค.66 มีผลให้แบงก์พาณิชย์ ทยอยขยับดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0.4 ต่อปี พร้อมดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง
หลังจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศ 1 เมษายน 2563 มาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพื่อลดต้นทุนของสถาบันการเงิน หวังช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคประชาชนเป็นการชั่วคราว ครบกำหนด 31 ธันวาคม 2565 เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ธปท. จึงมีทิศทางปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ สอดคล้องกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
เพื่อช่วยให้ภาระหนี้ของ FIDF เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทยอยลดลงได้ตามเป้าหมาย โดยไม่สร้างภาระต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจไทย ธปท. จึงได้ปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ กลับเข้าสู่อัตราปกติร้อยละ 0.46 ต่อปี จากปัจจุบันร้อยละ 0.23 ต่อปี มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0.4 ต่อปี ตามที่ได้ปรับลดไปก่อนร้อยละ 0.4 ในช่วงที่ผ่านมา
สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบต่อลูกค้าประชาชน จึงต้องดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง จึงพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ผ่านมาตรการความช่วยเหลือของแต่ละธนาคาร มุ่งเน้นช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และทันการณ์ ครอบคลุมทั้งการลดภาระทางการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้า ลูกค้าที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาสามารถติดต่อกับธนาคารที่ใช้บริการได้ทันที
ขณะเดียวกัน สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก เตรียมเร่งผลักดันมาตรการอื่นๆ ภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ ที่ปรับเงื่อนไขให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนผ่านมาตรการต่างๆ ได้แก่ ลูกหนี้รายย่อย และ SMEs รายได้หยุดชะงัก โครงการพักทรัพย์พักหนี้ สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว และพร้อมดำเนินการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็นในระยะต่อไป .-สำนักข่าวไทย