กรุงเทพฯ 26 ธ.ค.- “สุพัฒนพงษ์” รับลูกนโยบายนายกฯ ปรับลดค่าไฟ Ft ให้กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ (ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย) คาดลดได้ 20 สต./หน่วย พร้อมวอนเอกชนร่วมมือฝ่าวิกฤติ ด้าน กฟผ.ยืนยันต้องได้รับเงินคืนหนี้ ขณะที่ รมว.คลัง พร้อมร่วมมือ ลดเงินนำส่งรัฐของ กฟผ. ด้าน ปตท.พิจารณาพรุ่งนี้ ช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง 6 พันล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้างวดแรกปี 1/2566 (ม.ค. – เม.ย.) สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ (ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย) โดยปรับลดลงจากเดิมที่ไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) อยู่ที่ 190.44 สตางค์/หน่วย ส่งผลค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเมื่อรวมค่าไฟฐาน อยู่ที่ 5.69 บาท/หน่วย ว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการให้พิจารณาตามข้อเรียกร้องของเอกชน ซึ่งผลกระทบนี้เกิดจาก ปัญหาราคาต้นทุนเชื้อเพลิงแพง และได้พยายามเกลี่ยต้นทุน ทำให้ค่าไฟฟ้าสามารถลดต้นทุนได้บางส่วน แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการคืนหนี้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยบางส่วน จากเดิมจะต้องคืนหนี้ 33 สตางค์/หน่วย จากวงเงินที่ กฟผ.รับภาระค่าเชื้อเพลิงให้ก่อนไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยได้มอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) นำกลับไปพิจารณาแนวทางและกำหนดอัตราที่เหมาะสมใหม่ คาดว่า กกพ.ที่น่าจะมีคำตอบภายใน1-2 วันนี้
“นายกฯ สั่งให้ทบทวนต้นทุนพื่อบรรเทาผลกระทบ แต่จะให้ไม่ขึ้นเลยก็ไม่ได้ เพราะหลักๆมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) และก็อยากขอให้เอกชนมาร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงาน หรือโรงงานใดเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากไฟฟ้าไปน้ำมันเตาแทนชั่วคราวได้หรือไม่ หรือถ้าธนาคารพาณิชย์ ช่วยลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับ กฟผ. ก็น่าจะเป็นการฝ่าวิกฤตไปร่วมกัน ส่วนที่ระบุว่า ค่าไฟฟ้าไทยแพงกว่าเพื่อนบ้านที่จัดเก็บเพียง 2 บาทต่อหน่วยนั้น เรื่องนี้ก็ได้มีการตรวจสอบจากนักลงทุนที่ลงทุนในประเทศดังกล่าว ก็ไม่เห็นค่าไฟฟ้าอัตรานี้แต่อย่างใด ส่วนสำรองไฟฟ้าที่ว่าสูงกว่า 60 % นั้นก็เข้าใจว่าน่าจะคลาดเคลื่อน สำรองที่สูงก็ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลชุดนี้ และต้องยอมรับว่า สำรองที่สูงส่วนหนึ่งก็มาจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เอกชนก็มีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง(ไอพีเอส )ทำให้ต้นทุนต่ำลง ”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่าในส่วนบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150หน่วยต่อเดือนนั้น ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือต่อ เนื่องอย่างแน่นอน แต่ในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือนที่เดิมมีการช่วยเหลือแบบให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันได จะได้รับการช่วยเหลือต่อหรือไม่ ยังต้องรอความชัดเจนจากทางบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางจะมาช่วยเหลือเท่าใด หลังจากก่อนหน้านี้ มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เมื่อ25 พ.ย.65 ขอความร่วมมือจาก ปตท.ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ 1,500 ล้านบาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 4 เดือน(ม.ค.-เม.ย.66) หรือวงเงินรวม 6,000 ล้านบาทนั้น แนวทางนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ปตท.
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า บอร์ด ปตท.จะพิจารณาการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าในวันพรุ่งนี้ โดย อาจจะไม่ใช่ในรูปวงเงิน แต่จะเป็นรูปแบบใด หรือส่วนลดต้นทุนใดก็จะพิจารณารายละเอียดต่อไป โดยแนวทางการดำนเนการก็จะพิจารณาถึงผลกระทบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นของปตท. เช่นกัน
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่ากฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ยังจำเป็นจะต้องได้รับเงินเพื่อทยอยจ่ายคืนหนี้ ซึ่งตัวเลข ณ สิ้นเดือน ส.ค.อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท และหากถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 65 จะรวมเป็น 1.6 แสนล้านบาท ซึ่ง กฟผ.เสนอให้ชำระหนี้คืน 2 ปี วงเงินต่องวดราว กว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือ 33 สตางค์/หน่วย และหากจะลดวงเงินชำระคืน ต่อ กฟผ. ก็จะต้องหาวงเงินอื่นจากรัฐมาสนับสนุนแทน เพราะ กฟผ.ไม่สามารถกู้เงินได้อีก เช่น รัฐอาจจะยกเว้นการนำเงินส่งเข้าคลังของกฟผ.ทั้งหมดในปีงบประมาณ 2565 ที่คาดว่าจะอยู่ที่กว่า 2 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. ในฐานะโฆษกกกพ. กล่าวว่า บอร์ดกกพ.จะหารือเรื่องค่าไฟฟ้า 28 ธ.ค.ส่วนจะลดลงได้มากน้อยแค่ไหนอยู่ที่ 2 ส่วนสำคัญคือ 1. กฟผ.จะมีความสามารถในการเลื่อนชำระหนี้ได้มากน้อยเพียงใด และ 2. บมจ.ปตท.มีการทบทวนตัวเลขราคาก๊าซฯสำหรับโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งตัวเลขเบื้องต้นก็อาจจะลดลงได้ 20 สตางค์ต่อหน่วย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเข้าใจเรื่องความเดือดร้อนของทุกภาคส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าที่ขยับขึ้น และ กฟผ.ก็เข้ามาร่วมรับภาระให้ก่อน ดังนั้น จึงพร้อมพิจารณาข้อเสนอของกฟผ.ในการปรับลดวงเงินนำส่งรัฐของ กฟผ. จากก่อนหน้านี้ นำส่งกว่า 50%ของผลกำไร แต่จะมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องพิจารณารายละเอียดก่อน
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในปี 2566 กรมฯได้เร่งรัดจัดหาก๊าซฯในอ่าวไทยและเพื่อนบ้าน ทดแทน การนำเข้าแอลเอ็นจีให้มากที่สุด โดยยอมรับว่าค่าไฟฟ้าแพงเกิดจาก การที่เจ้าของสัมปทานแหล่งเอราวัณ(G1/61)เปิดให้บมจ. ปตท.สำรวจและผลิจปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เข้าพื้นที่ล่าช้าทำให้ ไม่สามารถผลิตก๊าซได้ตามแผน 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC)ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาทดแทนแต่ก็เกิดปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาก็พุ่งขึ้น เอราวัณแผนผลิต 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วงเดือนก.ค.2566 และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วงปลายปี 2566 และเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงเดือนเม.ย. 2567 จากปัจจุบัน อยู่ที่กว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในปี2566 แหล่งบงกช จะผลิตก๊าซฯภายใต้ระบบPSC เต็มรูปแบบ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะส่งผลให้ราคาก๊าซฯ เปลี่ยนแปลงตามสัญญาPSC ถูกลงอยู่ที่ประมาณ 4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็น่าจะทำให้ราคาก๊าซฯเฉลี่ยในประเทศถูกลงได้ ก็เป็นปัจจัยบวกต่อค่าไฟฟ้าในปีหน้า.-สำนักข่าวไทย