กรุงเทพฯ 21 -คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กกร.) เตรียม.ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีวันนี้ ทบทวน ค่าไฟฟ้างวดใหม่ 5.69 บาทต่อหน่วย เสนอแนะ 5 แนวทางดูแล
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ในนาม กกร. ระบุว่า วันนี้(21ธ.ค.).จะส่งหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอบรรเทาภาระผู้ประกอบการจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวดม.ค.-เม.ย. 66 หลังจากที่ประธานทั้ง 3 องค์กร ลงนามในหนังสือแล้วเมื่อวานนี้(20ธ.ค.) ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) มีมติ วันที่14ธ.ค. คำนวณค่า Ft งวดม.ค.-เม.ย.66 ให้ Ft ผู้ใช้ไฟประเภทบ้านที่อยู่อาศัยคงเดิมแต่พิจารณาอัตราค่า Ft ประเภทอื่นที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วยหรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 5.69 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงมากถึงสองงวดติดต่อกันจะทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะพลังงานเป็นต้นทุนหลักของภาคการผลิตและภาคบริการ
ขณะเดียวกันยังจะกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)ที่กำลังย้ายฐานท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ภาครัฐจึงควรพิจารณามาตรการการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าทั้งระบบ และเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ผู้ประกอบการขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
ดังนั้น กกร.จึงได้เสนอแนวทางการบรรเทาภาระค่าFt งวดดังกล่าวดังนี้ 1. ตรึงค่าไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องผลักภาระต้นทุนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน
2.ขยายเพดานหนี้ 2 ปีให้กฟผ.ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืมและชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลังเนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจรับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้นเป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี
3. ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดย ขอให้มีการปรับค่าFt แบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่าเพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak มากขึ้น
4.ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองมากขึ้นโดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานและสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินกลับให้การไฟฟ้าด้วยการปลดล็อคเรื่องใบอนุญาตรง.4,ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 เมกะวัตต์(แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปกติเดิมที่เคยใช้), ลดภาษีนำเข้าแผงโซลาร์ฯและอุปกรณ์ รวมทั้งพิจารณา Net metering สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ
5.มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้นโดยเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงานหรือกรอ. ด้านพลังงาน.-สำนักข่าวไทย