กรุงเทพฯ 14 ธ.ค.-รมว.อุตสาหกรรม ปลื้มกระแสตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมาแรง ดันยอดจองในงาน Motor Expo 2022 กว่า 5,800 คัน สั่งเร่งขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุน เพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 39 หรือ Motor Expo 2022 ที่ปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าชมงานสูงถึง 1.3 ล้านคน และมียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมทั้งสิ้น 36,679 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท โดยเป็นยอดจองรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 5,800 คัน คิดเป็นร้อยละ 15 ของยอดรวมจองรถยนต์ แบ่งเป็น BYD 2,714 คัน ORA 1,212 คัน MG 600 คัน Neta 827 คัน Mine 32 คัน Volt 210 คัน Pocco 30 คัน Porsche 70 คัน Mercedes-Benz 30 คัน และอื่นๆ 75 คัน ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน มาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐทำให้มีราคาลดลง ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ มีการเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่แนะนำในช่วงงานหลายรุ่น ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐานมากขึ้น รวมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายของแต่ละค่ายที่อัดโปรโมชันแบบจัดเต็ม
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนจากค่ายรถต่าง ๆ เข้ามาประกอบกิจการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มียอดการผลิตรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 กว่า 1,534,754 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี2564 ร้อยละ 12.36 ทำให้คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2565 ประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 1.75 ล้านคัน ได้อย่างแน่นอน
กระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2568 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 225,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 10 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2573 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2573 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั้งรถยนต์ รถกระบะ รถโดยสาร รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ แบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุ รวมทั้งสิ้น 128 มาตรฐาน ได้แก่ เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 3 มาตรฐาน ระบบประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 13 มาตรฐาน ความปลอดภัยของยานยนต์ไฟฟ้า 39มาตรฐาน สมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้า 8 มาตรฐานมอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 4 มาตรฐาน เซลล์และแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 7 มาตรฐาน สายไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 25 มาตรฐาน ระบบสื่อสารสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 6 มาตรฐาน ระบบอัจฉริยะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 22 มาตรฐาน คำศัพท์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 1 มาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือ ศูนย์ทดสอบ ATTRIC แห่งแรกในภูมิภาคASEAN ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อการยกระดับมาตรฐานและการวิจัย ประกอบด้วย การวิจัยพัฒนาทดสอบสมรรถนะยานยนต์และชิ้นส่วนต้นแบบ การทดสอบยางล้อ และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าการพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศไทยเป็นส่วนประกอบมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล
“การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle | BEV) ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดการจดทะเบียนรถ BEV 10 เดือนแรกของปี 2565 ประมาณ 15,423 คัน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมียอดการใช้รถ BEV เพิ่มขึ้นกว่า 50,000 คัน นับเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งพิจารณาจากการที่บีโอไออนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 26 โครงการจาก 17 บริษัท”นายสุริยะ กล่าว.-สำนักข่าวไทย