กรุงเทพฯ 8 ธ.ค.- ตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุ 11 เดือนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 1.84 แสนล้านบาท สูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
กรุงเทพฯ 8 ธ.ค.- นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า 11 เดือนแรกของปี มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก จากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่องในไตรมาส 3 ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า และการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในช่วง 3 ไตรมาสแรกฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด COVID-19 อีกทั้งนักวิเคราะห์ยังปรับประมาณการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนใน SET ให้เติบโตดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
โดยภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 SET Index ปิดที่ 1,635.36 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 1.7% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่น ในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับสิ้นปี2564 SET Index ปรับลดลงอยู่ที่ 1.3%
SET Index ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง เดือนพฤศจิกายน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 64,422 ล้านบาท ลดลง 30.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 11 เดือน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 78,637 ล้านบาท / ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 30,129 ล้านบาท ทำให้ใน 11 เดือนผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 184,060 ล้านบาท มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
เดือนพฤศจิกายน มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 4 หลักทรัพย์ และใน mai 3 หลักทรัพย์ โดยมูลค่าระดมทุนรวมในหุ้น IPO ของไทยปี 2565 ยังอยู่ในระดับต้นๆ ของเอเชีย
Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 15.8 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 15.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า
ส่วนตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ในเดือนพฤศจิกายน มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 504,651 สัญญาลดลง 1.4% จากเดือนก่อน และในช่วง 11 เดือน TFEX ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 554,370 สัญญา ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures
ทางด้านแนวโน้มปี 2566 เมื่อเงินเฟ้อเลยจุดพีคไปแล้ว เฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแรงอย่างที่หลายคนคาดการณ์ จึงทำให้ แนวโน้มปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ส่วนมูลค่าการระดมทุนรวม IPO ก็คาดว่าจะมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุน ของบจ. ช่วงโควิดที่ผ่านมามี บริษัท 30-40 บริษัทจดทะเบียนระดมทุน ก็น่าจะยังดีต่อเนื่อง ส่วนทิศทางฟันด์โฟลว์ปีหน้าก็ยังจะไหลเข้า เนื่องจากนักลงทุนยังเชื่อมั่นการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทย(บจ.) และหลายบริษัทฟื้นตัว กลับมามีกำไรสูงกว่าช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผย ว่ามูลค่าการซื้อขายที่ลดลงในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องมาจากข่าว การเก็บภาษีขายหุ้น เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการจัดเก็บจริง ต้องรอรัฐบาลประกาศแนวทางการที่ชัดเจน ทั้งอัตราการจัดเก็บ การเริ่มจัดเก็บเมื่อใด หรือมีข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่ทาง ตลท.ได้เสนอมาตลอด คือ เรทที่จัดเก็บ มีความเหมาะสม ไม่เก็บภาษีซ้ำซ้อน และควรมีเวลาให้ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม มีเวลาปรับตัว ซึ่งทาง ตลท. ต้องมีการหารือแนวทางกับผู้ร่วมตลาดและสพรรพากรเพื่อให้ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ร่วมตลาด ส่วนปีหน้า การเก็บภาษีขายหุ้น จะส่งผลอย่างไรบ้างนั้นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะภาษีเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัย หากสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น ดอกเบี้ยเริ่มลดลง จากการที่เงินเริ่มปรับตัวเฟ้อลดลง สภาพคล่องไหลกลับมา การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสามารถทำได้มากขึ้น ก็อาจจะทำให้ผลกระทบเรื่องภาษีลดลงได้ ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์ไปพร้อมๆกัน
อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายที่ลดลงในช่วงเช้า เหลือ 2.3 หมื่นล้าน ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องมาจากนักเทรดนัดหยุดเทรด เนื่องจากหากดูที่สัดส่วนการซื้อขาย พบว่าไม่ได้มีความผิดปกติ หรือแตกต่างจากวันอื่นๆมาก .- สำนักข่าวไทย