กรุงเทพฯ 8 ธ.ค.-วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ประกาศรางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี” โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลมีมติให้ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ครองตำแหน่งนักการเงินแห่งปี 2565 ด้วยคุณสมบัติของการเป็นนักการเงินแห่งปีครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทั้ง 4 ด้าน เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ สร้างความเติบโตยั่งยืนให้กับองค์กร รับผิดชอบต่อสังคมและทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม
วารสารการเงินธนาคาร ได้มอบรางวัลเกียรติยศ นักการเงินแห่งปี Financier of the Year มาเป็นเวลา 40 ปีแล้วโดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2525 ในชื่อเดิมของรางวัล “นายธนาคารแห่งปี” เพื่อยกย่องผู้บริหารระดับสูงของธนาคารสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน รวมทั้งสถาบันการเงินประเภทอื่นที่มีผลงานโดดเด่นมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทันสมัย สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตก้าวหน้าและยั่งยืน ในทุกสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งรางวัลนักการเงินแห่งปี ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษาว่าเป็นรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ
สำหรับปี 2565 คณะกรรมการตัดสินรางวัล “นักการเงินแห่งปี” มีมติเอกฉันท์มอบรางวัลเกียรติยศ นักการเงินแห่งปี2565 Financier of the Year 2022 ให้กับ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
ด้วยผลงานที่โดดเด่นผ่านคุณสมบัติการเป็นนักการเงินแห่งปีตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ด้าน คือ 1. เป็นนักการเงินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย 2. เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ 3. เป็นนักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโตและยั่งยืนให้กับองค์กร 4.เป็นนักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยเป็นนักการเงินแห่งปีคนที่ 31 ของ วารสารการเงินธนาคาร จากวันแรก 1 กรกฎาคม 2563 ที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน นายวิทัย รัตนากร ได้ประกาศวิสัยทัศน์ปรับบทบาทธนาคารออมสินมุ่งสู่การเป็น “Social Bank” หรือ “ธนาคารเพื่อสังคม” เพื่อสร้างผลเชิงบวกแก่สังคม “Making POSITIVE Impact on Society” ด้วยการดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย และองค์กรชุมชน เพื่อสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศด้วยการทำธุรกิจ Dual Track แบบสมดุลทั้งภารกิจเชิงพาณิชย์ (Commercial) เพื่อสร้างกำไรมาอุดหนุนภารกิจด้านสังคม (Social)
โดยภารกิจแรกในการเดินหน้าสู่ธนาคารเพื่อสังคม คือการนำธนาคารออมสินเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank อย่างเต็มตัวด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดในปัจจุบัน เป้าหมายแรกคือการเข้าไปแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ในนามบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ปัจจุบันได้อนุมัติสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ไปแล้วจำนวน1.4 ล้านราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 28,000 ล้านบาท และสามารถกดโครงสร้างดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจาก 28% ต่อปีให้เหลือ 16-18% ต่อปี
ภารกิจต่อมาคือ การเข้าช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยด้วยการออก “สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน” วงเงินโครงการ10,000 ล้านบาท โดยมีแนวคิดในการเป็นตัวเลือกที่ยุติธรรมให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เป็น SMEs สามารถใช้โฉนดที่ดินมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการ หรือนำไปไถ่ถอนจากสัญญาขายฝากที่ทำไว้
หลังจากประสบความสำเร็จจากการปล่อยสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ที่เปิดให้กู้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ภายในระยะเวลา 2 ปี ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้ว 21,254 ล้านบาท จึงเกิดเป็นแนวคิดการจัดตั้ง บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด เข้าทำธุรกิจแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อผลักดันให้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ ลดโครงสร้างดอกเบี้ยซึ่งสูงเกินความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับประโยชน์จากสินเชื่อที่มีต้นทุนถูกลงและมีเงื่อนไขที่เป็นธรรม พร้อมช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ
นอกจากนี้ ยังได้วางแผนจัดตั้งบริษัทประกอบธุรกิจ Non-Bank ในปี 2566 เพื่อทำธุรกิจสินเชื่อบุคคล (Personal Loan) เนื่องจากเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลสูงเกินไป เป้าหมายของการเข้าไปดำเนินธุรกิจในครั้งนี้ เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงมามากว่า 5% จากเดิมที่อยู่ระดับ 25% ต่อปี
นายวิทัยมองว่า สิ่งที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ Social Bank ให้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายก็คือDigital Banking ที่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ขณะเดียวกัน ยังช่วยสนับสนุนงานของสาขาได้เป็นอย่างดี ธนาคารจึงได้พัฒนาบริการลักษณะเฉพาะ หรือ Feature ใหม่ๆ บนแอปพลิเคชั่น MyMo เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปสาขาแต่สามารถใช้บริการบนโทรศัพท์มือถือได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการสินเชื่อแบบDigital Lending บริการเปิดบัญชีเงินฝาก (e-KYC) การปรับแผนชำระหนี้ การตรวจสอบข้อมูล Credit และ Credit Scoring เป็นต้น
ธนาคารยังได้วางแผนพัฒนา Digital Lending ให้สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบนสมาร์ต โฟนด้วยแอปพลิเคชั่นMyMo ให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล Alternative Data Analytic อย่างเต็มรูปแบบ โดยเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับรายเล็ก หรือ Micro Finance ซึ่งปัจจุบันธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยผ่าน MyMo ได้มากกว่า 1.7 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 30,000 ล้านบาท และดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า 5.5 แสนราย จากที่มีลูกค้าใช้ MyMo รวม 13 ล้านราย
สำหรับภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของธนาคารออมสินคือการส่งเสริมการออม ที่ทุกคนมีภาพจำว่า ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อการออมของกลุ่มเด็ก มาในสมัยของนายวิทัย ได้ขยายบทบาทการส่งเสริมการออมโดยให้ความสำคัญกับการวางแผนเกษียณ ด้วยการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากออมสินระยะยาวเพื่อการเกษียณ เป็นการสร้างหลักประกันให้ประชาชนฐานรากชีวิต มีความพร้อมก้าวสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพควบคู่ไปกับการสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชน ผ่านแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ “ออมตังค์” ให้ความรู้ทางการเงินและหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพ และแอปพลิเคชั่น “โค้ชออม” ซึ่งเป็นตัวช่วยวางแผนการออมให้ผู้ใช้แอปฯ สามารถทดลองคำนวณปริมาณเงินออมตามเป้าหมายต่างๆ ได้ด้วยตนเอง สามารถนำไปปรับใช้วางแผนการออม ทั้งที่เป็นเป้าหมายการออมระยะสั้นหรือการออมระยะยาว เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่ธนาคารออมสินได้ปรับบทบาทเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ภายใต้การนำของนายวิทัย ธนาคารได้ทำภารกิจช่วยเหลือสังคมที่เป็นรูปธรรมในหลายมิติ ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งธนาคารเป็นหน่วยงานหลักในการส่งต่อความช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจตามนโยบายรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ ถึง 47 โครงการ ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือประชาชนได้แล้ว 13 ล้านคน และปล่อยสินเชื่อกว่า 6.8 ล้านรายวงเงิน 1.66 ล้านล้านบาท
นอกเหนือจากมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ แล้ว ธนาคารออมสินยังมี “โครงการออมสินสร้างงาน สร้างอาชีพ” เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถต่อยอดสร้างรายได้ในตนเองและครอบครัว ภายใต้แนวคิด 4 “ให้” ได้แก่ ให้ทักษะ ให้เงินทุน ให้อุปกรณ์ ให้พื้นที่ขาย เพื่อช่วยให้มีอาชีพ ฟื้นฟูรายได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ธนาคารออมสินยังสามารถรักษาการเติบโตของผลประกอบการได้ย่างต่อเนื่อง โดย ณ เดือนตุลาคม 2565 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 23,997 ล้านบาท คาดการณ์กำไรทั้งปี 2565 ที่ 27,200 ล้านบาท สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวนเงิน 17,349 ล้านบาทสูงสุดเป็นอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง
ขณะที่ธนาคารมีสินทรัพย์ 3 ล้านล้านบาท เงินฝาก 2.57 ล้านล้านบาท สินเชื่อ 2.23 ล้านล้านบาท พร้อมกับสามารถรักษาระดับ NPLs ได้ที่ 2.71% ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) 168.86% และมีเงินสำรองรวม (Total Provision) และเงินสำรองทั่วไป (General Provision) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มเงินกันสำรองเพื่อรองรับหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น ณ ตุลาคม 2565 จำนวน 44,063 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 39,988 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีเงินสำรองเพียง 4,075 ล้านบาท
ในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี นายวิทัยได้ประกาศนโยบายของผู้นำองค์กร (Tone at the top) ที่จะดำเนินธุรกิจที่ยึดหลัก Governance “เน้นความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล การต่อต้านและลดทุจริต” เพื่อเป็นแรงส่งให้พนักงานในองค์กรปฏิบัติตาม และสร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) ด้วยการอบรมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ จัดทำสื่อการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ จัดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความตระหนักให้แก่พนักงานและลูกจ้างในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการสร้าง Role Model ผ่านโครงการให้รางวัลจริยธรรมและจรรยาบรรณ .-สำนักข่าวไทย