กรุงเทพฯ 25 พ.ย.- ธนาคารออมสินจับมือสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ต่อยอดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 65 ร่วมยกระดับและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นประธานเปิดงานการนำเสนอผลสัมฤทธิ์โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ระดับประเทศ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ธนาคารออมสินร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศทำกิจกรรมลงพื้นที่สร้างความร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาและทรัพยากรของท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยมี นางวรนุช ภู่เอี่ยม รองปลัดกระทรวงการคลังและกรรมการธนาคารออมสิน ร่วมเป็นเกียรติมอบรางวัล Best of the Best ประเภท กินดี อยู่ดี สวยดี ใช้ดี รักษ์ดี คิดดี ระดับประเทศ ประจำปี 2565 ณ หอประชุมบุรฉัตร ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่
ทั้งนี้ รางวัลออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น Best of the Best ระดับประเทศ ประจำปี 2565 ผ่านการคัดกรองและกลั่นกรองของคณะกรรมการตัดสินผลงานดีเด่น จาก 65 ทีม เหลือ 30 ทีม และ 12 ทีม ตามลำดับ และคัดเลือกผลงานการพัฒนายอดเยี่ยม Best of the Best 6 ประเภทรางวัล ได้แก่ (1) ประเภทกินดี ทีม เศรษฐปลาศาสตร์ ยุวพัฒน์อาสา ผลิตภัณฑ์น้ำพริกหมูฝอยเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (2) ประเภทอยู่ดี ทีม Local Le Kha คุณค่าท้องถิ่น บริการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (3) ประเภทสวยดี ทีม ภูษามัดย้อมแห่งศรัทธา ผลิตภัณฑ์จากผ้า Eco Print มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ (4) ประเภทใช้ดี ทีม Super nature ผลิตภัณฑ์จากใบบัว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (5) ประเภทรักษ์ดี ทีม Wall Diamondผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ลายศิลาล้อมเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร (6) ประเภทคิดดี ทีม Wolffia Ranger ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผำและ PHUM Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ ทีม TTM Wonderful Patches ผลิตภัณฑ์แผ่นแปะสมุนไพรว่านเอ็นเหลือง มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
สำหรับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างธนาคารออมสินกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยธนาคารสนับสนุนงบประมาณและเป็นหน่วยงานพี่เลี้ยง เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้บูรณาการความรู้และวิทยาการสมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการยกระดับขีดความสามารถในการประกอบการของกลุ่มชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่ม สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด สร้างโอกาสในอาชีพและรายได้ ส่งเสริมวินัยทางการเงินและศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น สอดคล้องตามแนวคิด Social Mission Integration ของธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งปี 2565 มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมโครงการ จำนวน 65 แห่ง มีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 3,250 คน กลุ่มองค์กรชุมชนจำนวน 335 กลุ่ม มีสมาชิกและผู้รับประโยชน์ มากกว่า 6,235 ราย โดยชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 80 แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม.-สำนักข่าวไทย