กรุงเทพฯ 7 พ.ย.-คนไทยลุ้น รัฐจะต่ออายุลดภาษีดีเซล หลัง 20 พ.ย. หรือไม่ หากขึ้นพรวดราคาจะขึ้นกว่า 5 บาท/ลิตร ขณะปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ยังอุดหนุนเกือบ 2 บาท/ลิตร
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้เตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง ในเรื่องของภาษีน้ำมันดีเซลที่จะครบกำหนดลดภาษี5 บาทต่อลิตรจะถึงกำหนด ในวันที่ 20 พ.ย. 2565 นี้ซึ่งจะขึ้นรูปแบบไหนอย่างไร ก็คงจะต้องดูภาพรวมของผลกระทบทั้งหมดทั้งภาคประชาชน และการจัดเก็บรายได้ของรัฐ อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันดีเซล ภาพรวมขณะนี้ก็ลดลงมามากแล้วจากที่ได้ใช้มาตรการนี้เพราะราคาดีเซลเคยพุ่งไปถึงระดับ 150 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยล่าสุด 4 พ.ย. 65 ราคาดีเซลอยู่ที่ 134 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เบนซิน 105 เหรียญ/บาร์เรล และดูไบ อยู่ที่92 เหรียญต่อบาร์เรล
“ภาพรวมจะขึ้นภาษีดีเซล หรือไม่ หรือจะดูแลราคาดีเซลที่ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ไปนานแค่ไหน เป็นเรื่องที่ภาครัฐติดตามสถานการณ์ และพิจารณาผลกระทบของประชาชนรอบด้าน โดยแม้ราคาดีเซลตลาดโลกจะลดลง แต่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ยังอุดหนุนเกือบ 2 บาท/ลิตร และกองทุนยังติดลบกว่า 1.29 แสนล้านบาท”นายกุลิศกล่าว
กระทรวงการคลังได้ปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซล ในปีนี้ 4 ครั้ง โดย 3 ครั้งแรก ทำให้ ให้รัฐสูญรายได้ประมาณ 68,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ครั้งที่ 1 วันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 20 พฤษภาคม 2565 ลดภาษีลง 3 บาทต่อลิตร ,ครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 21 พฤษภาคม – 20 กรกฎาคม 2565 โดยลดภาษีดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร และครั้งที่ 3 วันที่ 20 กรกฎาคม – 20 กันยายน 2565 โดยลดภาษี 5 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ ต.ค. 2565 ติดลบ 129,982 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ87,873 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 43,109 ล้านบาท เงินเรี่ยไรจากกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประจำเดือน พ.ย. 2565 วงเงิน 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนติดลบ 129,982 ล้านบาท
สำหรับการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของกองทุนฯ ทางกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ กองทุนฯไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาทภายในระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2565-5 ตุลาคม 2566 และให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ชำระคืนให้กระทรวงการคลังจนครบภายในเวลาที่กำหนด โดยทาง สกนช.วางแผนแบ่งสัดส่วนการกู้เงินก้อนแรก30,000 ล้านบาท ทยอยกู้ 3 งวด แบ่งเป็นงวดแรก 5,000 ล้านบาท งวดที่ 2 อีก 5,000 ล้านบาท และงวดที่ 3 ที่เหลืออีก 20,000 ล้านบาท โดยงวดแรก จะกู้จากธนาคารกรุงไทยเพราะมีข้อเสนอที่ดีที่สุด คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพฯหรือ BIBOR (6 เดือน) ที่ 0.069% ชนะธนาคารออมสินที่เสนออัตรา BIBOR (6 เดือน) ที่ 0.12% กำหนดระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 2 ปี .–สำนักข่าวไทย