กระทรวงการคลัง 13 ต.ค. – รัฐมนตรีคลัง-ผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน จับมือรองรับเศรษฐกิจโลกทรุด หลังไอเอ็มเอฟเป็นห่วงเศรษฐกิจโลกขยายตัวเพียงร้อยละ 2
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting : AFMGM) ในห้วงการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2565 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โดยกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปี 2566 เสนอประเด็นความร่วมมือด้านการเงินการคลังอาเซียนในปี 2566
ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมการฟื้นฟู การเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและทางการเงิน และการสร้างภูมิคุ้มกัน 2. ความร่วมมือด้านภาษีระหว่างประเทศ 3.การยกระดับความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลผ่านระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน 4.การพัฒนาการเชื่อมโยงการชำระเงินและการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ 5. การส่งเสริมการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านเพื่อสนับสนุนการเงินที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว โดยที่ประชุมฯ ได้สนับสนุนข้อเสนอประเด็นความร่วมมือดังกล่าว เพราะมีส่วนสำคัญในการฟื้นตัวและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของสมาชิกและภูมิภาคอาเซียน
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับนาย Ros Seilava รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชา ถึงความร่วมมือในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างไทย-กัมพูชา และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กัมพูชา ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2566 “สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง สำหรับหลายคน ปี 2023 จะรู้สึกราวกับเศรษฐกิจถดถอย” IMF คาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจทั่วโลกจะลดลงเหลือร้อยละ 2.7 ในปี 2566 มีความเป็นไปได้ร้อยละ 25 อาจลดลงต่ำกว่าร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับ คาดการณ์เดิมขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปีนี้
ขณะที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ติดตามสภาวะตลาดการเงินและสื่อสารกับผู้ร่วมตลาดอย่างเป็นประจำผ่านการประชุมMarket Dialogue เพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนและนำมาปรับแผนการระดมทุนของรัฐบาลให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดอย่างสม่ำเสมอ และประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมกันดูแลสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้และตลาดการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยปรับกลยุทธ์การระดมทุนหลากหลาย(Diversification) เพิ่มเติมจากการออกพันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นเครื่องมือหลัก ไปยังเครื่องมือระยะสั้นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและด้านการปรับโครงสร้างหนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 สบน. ได้กู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. COVID-19 ทั้งสองฉบับแล้วทั้งสิ้น 1.48 ล้านล้านบาท และเบิกจ่ายแล้วกว่า 1.38 ล้านล้านบาท.-สำนักข่าวไทย