กรุงเทพฯ 7 ต.ค. – บล.ดีบีเอส แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นอาเซียน-ญี่ปุ่น ยืนเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ 1,680 จุด ปีหน้า 1,750 จุด รับท่องเที่ยวฟื้น-เงินไหลเข้า
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส สัมมนาออนไลน์ “ส่องโอกาสลงทุนใหม่ ฝ่าด่านดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจชะลอ” โดยประเมินเฟดจะยังคงใช้นโยบายเข้มงวด ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปจนถึงปลายปีที่ระดับ 4.4- 4.5% เพื่อกดเงินเฟ้อมาอยู่ที่ 2% ส่งผลการบริโภคทั่วโลกชะลอ มองตลาดหุ้นอาเซียน-ญี่ปุ่นน่าสนใจ จีดีพีเติบโตได้ดี ส่วนหุ้นไทยได้รับผลบวกจากท่องเที่ยวฟื้นตัว เงินทุนไหลเข้า ยืนเป้าดัชนีปีนี้ 1,680 จุด ส่วนปีหน้าอยู่ที่ 1,750 จุด ยกหุ้นท่องเที่ยว-ส่งออก เด่นรับอานิสงส์เปิดประเทศ
นายธนวัฒน์ ปัจฉิมกุล ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงใช้นโยบายเข้มงวด โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 4.5% ปลายปี 2022 ก่อนจะหยุดขึ้น เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ ส่งผลให้การบริโภคทั่วโลกชะลอตัวลง จากผลของความเข้มงวดของนโยบายการเงินและการคลัง
“เศรษฐกิจประเทศใหญ่จะถูกปรับลดจีดีพี โดย DBS Bank คาดเศรษฐกิจสหรัฐปี 2023 โตเพียง 0.3% ยุโรปโต 1% ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเร่งตัวขึ้นในปี 2023 เป็นบวก 1.8% ด้านเศรษฐกิจจีนโตดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการจัดการโควิด ส่วนกลุ่มอาเซียนยังขยายตัวดี โดดเด่นคือเวียดนาม” นายธนวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ดีบีเอสเชื่อว่า ถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็จะเป็นแบบไม่รุนแรง “mild recession” โดยปัจจัยสนับสนุนความคิดเห็นที่สำคัญคือ ระบบเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้เปราะบางเหมือนอดีต ดูจากหนี้ครัวเรือนลดลงจากในอดีตมาก และตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง อัตราว่างงานต่ำ 3.5%
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวจีดีพี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผลตอบแทนในภาคธุรกิจ สมมติฐานว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเข้าสู่ช่วง “mild recession” และจะทำให้ผลตอบแทนของ corporate ลดลงไป 6% ก็ได้สะท้อนเข้าไปในสภาวะตลาดปัจจุบันแล้ว ดังนั้นจึงเริ่มเป็นจุดที่น่าสนใจในการลงทุนระยะยาว โดยมองหุ้นกลุ่ม Luxury brands มีความน่าสนใจ แม้ว่าทิศทางการบริโภคจะชะลอลง แต่กลุ่ม Luxury จะได้แรงหนุนจากความมั่งคั่ง (wealth) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เช่น กลุ่ม millennial และกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น เช่น ในจีน รวมทั้งสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังลูกค้าได้
ขณะที่ธุรกิจเฮลท์แคร์ ชอบกลุ่ม Medical devices ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูง จากนวัตกรรมใหม่ๆ และ ageing population กลุ่ม Healthcare มีลักษณะเป็น “defensive growth” คือเป็นทั้ง defensive และยังมี growth ในระยะยาว กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์มีแนวโน้มขยายตัวสูง จากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และการขยายจำนวนเตียงในเอเชีย เช่น จีน
“การลงทุนในหุ้น คงต้องรอจังหวะผลตอบแทนพันธบัตร ถึงจุดพีค (เมื่อ Fed ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่ม growth โดยดีบีเอส แนะเพิ่มน้ำหนักหุ้นในตลาดอาเซียนและญี่ปุ่น แต่ยังคงปรับลดน้ำหนักหุ้นยุโรป” นายธนวัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังต้องระวังความเสี่ยง จากความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน, การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล, การเมืองระหว่างประเทศ, เทคโนโลยี, สภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม, การลงทุนในอุตสาหกรรมเฉพาะมีความเสี่ยงสูงกว่าตลาดโดยรวม
ด้านนางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้น Q4/2022 ได้รับปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีเกินคาด โดยประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปีนี้มีโอกาสทะลุ 10 ล้านคน รวมทั้งจะมีเม็ดเงินลงทุนบางส่วนไหลจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ ที่มีฐานะการคลังที่แข็งแรงและเศรษฐกิจฟื้นตัวดี ซึ่งไทยน่าจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการลงทุน ถ้าไม่มีปัญหาการเมืองรุนแรง โดยบริษัทตั้งเป้าหมายดัชนีปีนี้ไว้ที่ระดับ 1,680 จุด และเป้าหมายดัชนีปีหน้าที่ระดับ 1,750-1,800 จุด
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย แม้ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัว แต่อาจไม่สามารถชดเชยการขาดดุลการค้าในปีนี้ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ทั่วถึง (เป็น K Curve) สำหรับการเมืองไทย การชุมนุมประท้วง ถ้าไม่มีปะทะรุนแรง ก็กระทบไม่มาก
ด้านนายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่น คือ ท่องเที่ยว ส่งสัญญาณการฟื้นตัว คาดว่าในปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้า 10-11 ล้านคน และปี 66 จำนวน 16 ล้านคน หุ้นที่ได้ผลบวก คือ CENTEL ธุรกิจโรงแรมและอาหารฟื้นตัวสดใส
ส่วนอุตสาหกรรมส่งออกที่โตต่อเนื่อง คือ อาหาร, เกษตรอุตสาหกรรม, สินค้าอุตสาหกรรม โดยมีปัจจัยหนุน จากเงินบาทอ่อนค่า, ค่าขนส่งทางเรือลดลง
นายสมบัติ กล่าวถึงอุตสาหกรรมสื่อสาร จากกระแสการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) เป็นการโตทางลัดผสานเทคโนโลยีและประหยัดต้นทุน โดยหุ้น ADVANC โดดเด่นจากการได้ TTTBB และ JASIF จะได้ลูกค้าเพิ่มอีกถึง 2.5 ล้านราย ในอนาคตสามารถระดมทุนผ่าน JASIF และยังได้แบรนด์ 3BB ที่แข็งแกร่งเพิ่ม
ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ มีแนวโน้มดีจากคนไข้ต่างชาติเพิ่มขึ้น หลังโรคโควิดคลี่คลาย หุ้นที่เด่น BDMS ได้ปัจจัยบวกจากคนไข้ต่างประเทศ
นายสมบัติ กล่าวถึงอุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรม ฟื้นตัวดีตามการเปิดเมือง การลงทุนในโลกอนาคต นิคมฯ จะมีบทบาทสำคัญ เช่น รถยนต์ EV, E-Commerce, Digital Platform, ROBOT ขณะที่รัฐบาลเร่งส่งเสริมการลงทุน เช่น เขต EEC จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว, มูลค่าที่ดินเพิ่ม และมองว่าหุ้น WHA โดดเด่น. – สำนักข่าวไทย