กรุงเทพฯ 21 เม.ย.- ที่ประชุมบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ
จำกัด หรือ
IRCo ที่ถือหุ้นโดยรัฐบาล 3
ประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติร้อยละ 70 ของโลกคือ ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียเตรียมเสนอที่ประชุมรัฐมนตรี
3 ประเทศใช้มาตรการจำกัดส่งออกยางเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา
ซึ่งการประชุมครั้งนี้ นายธีธัช สุขสะอาด
ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ในฐานะประธานการประชุม ระบุว่า ที่ประชุม IRCo
ได้แสดงความห่วงใยต่อแนวโน้มราคายางธรรมชาติตลาดโลกที่ผันผวนไม่สะท้อนกับปัจจัยพื้นฐานยางพาราที่ยังมั่นคง
เห็นได้จากปัจจัยปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติที่ลดลงในตลาดโลกจากการที่ประเทศไทยผู้ส่งออกอันดับ
1 ของโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้ ขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางบางประเทศหันไปหารายได้อื่นมากขึ้น
ทั้งนี้ สถานการณ์ราคายางธรรมชาติที่ผันผวนเป็นผลจากการเก็งกำไรมาก
และยังสวนทางการบริโภคที่เพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ
7-12 ในจีน ยุโรป และญี่ปุ่น
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟก็คาดการณ์เศรษฐกิจโลกเติบโตร้อยละ
3.5 ในปีนี้ ดีกว่าปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 สหรัฐผู้บริโภคยางธรรมชาติอันดับ
2 ของโลก เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 2.3
ในปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 1.6 จีนเศรษฐกิจประมาณการขยายตัวเพิ่มจากร้อยละ 6.5
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาเพิ่มเป็นร้อยละ 6.6 ในเดือนเมษายนนี้ ขณะที่สตอกยางพารารายเดือนก็ต่ำกว่าความต้องการใช้และลดลงต่อเนื่องเหลือ
2.16 เดือน ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีนับจากปีค.ศ.2012
นายธีธัช กล่าวว่า ราคายางธรรมชาติที่ผันผวนส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในวงกว้างให้ยากต่อการวางแผนในการเพาะปลูกและทำธุรกิจ
ซึ่ง IRCo ไม่ได้นิ่งนอนใจ
อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด โดยศึกษาและพร้อมที่จะเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ
3 ประเทศให้ใช้มาตรการจำกัดการส่งออก หรือ AETS ได้ทุกเมื่อเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางธรรมชาติในตลาดโลก
ซึ่งมาตรการนี้ใช้ได้ผลเป็นอย่างดีในปีที่ผ่านมา แต่ถ้าหากระดับราคากลับสู่ภาวะปกติก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการใด
ๆ นอกจากนี้ ยังใช้มาตรการส่งเสริมเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติภายใน 3
ประเทศผู้ส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง-สำนักข่าวไทย