นนทบุรี 26 ก.ย.- รมช.พาณิชย์ เตรียมแผนดึงสินค้า “กล้วยหอมทองละแม” ของดีจังหวัดชุมพรบุกตลาดญี่ปุ่น พร้อมประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI สร้างรายได้เกษตรกรผู้ปลูกในชุมชนกว่า 6 ล้านบาทต่อปี
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังคงเดินหน้าประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อย่างต่อเนื่อง
ซึ่ง GI เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งต้นกำเนิดให้กับสินค้าชุมชนท้องถิ่น สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ผลิตได้ในพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่น ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียน GI “กล้วยหอมทองละแม” จากอำเภอละแม จังหวัดชุมพร เป็นสินค้า GI รายการที่ 5 ของจังหวัด โดยจังหวัดชุมพรมีสินค้า GI มากที่สุดของภาคใต้ ได้แก่ กล้วยเล็บมือนางชุมพร ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร กาแฟเขาทะลุชุมพร กาแฟถ้ำสิงห์ชุมพร และกล้วยหอมทองละแมเป็นสินค้า GI ตัวล่าสุดของจังหวัดชุมพร ซึ่งปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียนสินค้า GI โดยรวมทั้งหมด 164 รายการ ครอบคลุมครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ลักษณะเฉพาะโดดเด่นของกล้วยหอมละแม เมื่อสุกจะมีน้ำในผลน้อย รสชาติหวานหอม อมเปรี้ยวเล็กน้อย มีผลขนาดกลางถึงใหญ่ เนื้อแน่น หน้าตัดเหลี่ยม ขั้วเหนียว เป็นสินค้าเกษตรของไทยที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น โดยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอำเภอละแมกว่า 6 ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์สินทางปัญญานังคงเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชุมพร รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่ของจังหวัดที่เห็นความสำคัญของการขึ้นทะเบียน GI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน นำมาสู่การขึ้นทะเบียน GI อย่างต่อเนื่องของจังหวัดชุมพร สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างยั่งยืน ถือเป็นอีกจังหวัดต้นแบบที่นำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าให้กับท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยหากเกษตรกรหรือชุมชนท้องถิ่นใดสนใจนำสินค้าชุมชนมาขึ้นทะเบียน GI สามารถขอรับคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร 1368 .-สำนักข่าวไทย