ริยาดฯ 30 ส.ค. – อย.ซาอุฯ ไฟเขียว 11 โรงงานไก่ไทยส่งออกชิ้นส่วนไก่ พร้อมนำคณะเจ้าหน้าที่ อย.ซาอุฯ ร่วมตรวจคุณภาพโรงงานไก่สดไทย 28 แห่ง เตรียมเชิญนักลงทุนซาอุฯ ร่วมทุนธุรกิจอาหารฮาลาลไทย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนภาคเอกชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการพบหารือกับ ดร.ฮีชาม บิน ซาอัด อัล จาดฮี ประธานองค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบีย (SFDA) หรือ อย.ซาอุดีอาระเบีย ที่องค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบีย ว่า ขณะนี้ไทยสามารถส่งออกไก่มาซาอุดีอาระเบียได้แล้ว 11 โรงงานซึ่ง อย.ซาอุดีอาระเบียให้การรับรองแล้ว แต่ยังติดขัดบางส่วน เรื่องการส่งออกชิ้นส่วนไก่ เดิมส่งมาได้คือไก่ทั้งตัว แต่ชิ้นส่วนของไก่ยังมีข้อเข้าใจไม่ตรงกันกับทาง อย.ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งบอกว่าอนุญาตให้ส่งออกชิ้นส่วนไก่ได้ แต่โรงงานในประเทศไทยหรือผู้ส่งออกของไทยยังเข้าใจว่าไม่สามารถส่งออกมาได้ ตนจะประสานงานกับโรงงานทั้งหมด 11 โรงงาน ให้เข้าใจว่า อย.ซาอุฯ อนุญาตให้ส่งออกมาได้และให้เจรจาได้โดยตรง
นอกจากนี้ ยังได้มายื่นรายชื่อโรงงานชำแหละเนื้อไก่อีก 28 โรงงานให้เร่งรัดการตรวจโรงงาน ซึ่ง อย.ซาอุฯแจ้งว่ายินดี ตอนนี้รอเอกสารทั้งหมดจากกรมปศุสัตว์ ตนจะเร่งให้กรมปศุสัตว์ส่งข้อมูลทั้งหมดที่ทาง อย.ซาอุฯ ต้องการเพื่อเร่งดำเนินการตรวจให้โดยเร็วที่สุด ขณะที่เรื่องเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เช่น เนื้อวัว เป็นต้น ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียยืนยันว่าต้องการเพิ่ม เพราะต้องการเนื้อที่มีคุณภาพดีราคาถูกและมีความปลอดภัยซึ่งพร้อมนำเข้าจากหลายประเทศโดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พร้อมอำนวยความสะดวก ซึ่งจะต้องมีการประสานงานกันในรายละเอียด กรมปศุสัตว์จะต้องเป็นต้นเรื่อง และให้ทั้งสองฝ่ายคุย อยากให้นักลงทุนของซาอุดีอาระเบียไปร่วมลงทุนที่เมืองไทย ให้การผลิตเนื้อหลายชนิดส่งออกมาซาอุดีอาระเบียสะดวกคล่องตัวขึ้น เพราะเมื่อไปร่วมลงทุนจะทราบความต้องการ ตามหลักการของสินค้าฮาลาลที่ซาอุดีอาระเบียต้องการดีกว่าไทย
ส่วนเรื่อง อย.ซาอุดีอาระเบีย ต้องการพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการ การผลิตสินค้าฮาลาลที่ได้มาตรฐานกับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตนจะประสานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประสาน อย.ซาอุดีอาระเบียอีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมมือด้านวิชาการ ส่งเสริมการผลิตอาหารสินค้าฮาลาลร่วมกันต่อไป ให้ได้มาตรฐานในระดับที่ต้องการ ดังนั้น การเจรจาครั้งนี้จะเป็นผลดีกับการส่งออกสินค้าไทยในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายสินค้า มายังซาอุดีอาระเบีย จะช่วยให้ตัวเลขการค้าต่อไปสูงขึ้น เพราะตัวเลขการค้าไทยกับซาอุดีอาระเบียมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะ 7 เดือนแรกของปีนี้สามารถส่งออกสินค้ามาซาอุดีอาระเบียได้เป็นบวกถึงร้อยละ 26 จะมีส่วนช่วยทำให้ตัวเลขดีอย่างมาก
ทั้งนี้ แม้สัดส่วนการนำเข้าไก่สดจากไทยในซาอุฯ โดยไทยมีส่วนแบ่งการตลาดเพียงร้อยละ 2 จากปริมาณการนำเข้าสูงสุดจะเป็นประเทศบราซิลที่มีส่วนแบ่งเกือบร้อยละ 50 ดังนั้น เชื่อว่าจากคุณภาพไก่สดไทยถือว่ามีคุณภาพสูงมีโอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดสูงขึ้นได้ในอนาคตแน่นอน และไทยได้ถือโอกาสเยือนซาอุฯครั้งนี้ ยังได้เชิญนักธุรกิจไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการโรงงานไก่สดไทยด้วย โดยนักธุรกิจซาอุฯตอบรับและยินดีร่วมทุน ซึ่งจะไปดูในรายละเอียดกันต่อไป.-สำนักข่าวไทย