เพชรบุรี 6 พ.ย. 63 – คณะทูตานุทูตรัฐภาคีสมาชิกกรรมการมรดกโลก 8 ประเทศ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน หวังช่วยดันเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของโลก นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว หัวหน้าคณะผู้เเทนไทยในคณะกรรมการมรดกโลก พร้อมด้วยนายประเสริฐ ศิรินภาพร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ต้อนรับคณะทูตานุทูตรัฐภาคีสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งสำนักงานนโยบายเเละเเผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก โดยมีคณะทูตานุทูตรัฐภาคีสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย กัวเตมาลา โอมานบาห์เรน สเปน ไนจีเรีย รัสเซีย และบราซิล ร่วมศึกษากิจกรรม สัมผัสสภาพพื้นที่จริง รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานรอบด้าน และความพยายามของไทยที่ผ่านมาในการปกป้องคุ้มครองคุณค่าความโดดเด่นของพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เพื่อให้เห็นว่ากลุ่มป่าแก่งกระจาน มีศักยภาพและความพร้อมเป็นแหล่งมรดกโลก นอกจากนี้ยังได้เห็นสภาพพื้นที่ความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน รวมทั้งมาตรการในแต่ละด้านที่ใช้บูรณาการงานด้านปกป้องรักษาคุณค่าความโดดเด่นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้ปรับยุทธวิธีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ที่ลดการล่าในพื้นที่ลงได้อย่างมาก มีการจัดอบรมให้ความรู้และสร้างความตระหนักของคนในชุมชนโดยรอบ และเยาวชน ถึงคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่ รวมทั้งได้ดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญสามารถลดการบุกรุกทำลายป่า และร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้คงความสมบูรณ์ เป็นแหล่งพันธุกรรมความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ควรค่าแก่การยกระดับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ต่อไปในอนาคต สำหรับกลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีของไทย รวมพื้นที่กว่า 1,821,687 ไร่ ซึ่งเป็นกลุ่มป่าที่มีระบบนิเวศทั้งระบบนิเวศบก แหล่งน้ำ เป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์ป่าที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังมีความสำคัญคุณค่าด้านความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ ไทยจึงพยายามเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ภายใต้เกณฑ์ข้อ 10 ซึ่งระบุไว้ในเอกสารเนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก โดยตั้งเป้าพยายามผลักดัน และดำเนินการตามคำแนะนะของคณะกรรมการมรดกโลก พัฒนาให้กลุ่มป่าแก่งกระจานมีความพร้อมเหมาะสม ตั้งเป้าให้การลงพื้นที่ครั้งนี้ช่วยให้คณะกรรมการมรดกโลกได้เห็นข้อเท็จจริงเห็นความพร้อมของกลุ่มป่าแก่งกระจาน และเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาให้ความเห็นชอบขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกธรรมชาติแห่งใหม่ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งต่อไป สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการยืนยันให้คณะกรรมการมรดกโลกได้เห็นข้อเท็จจริง ประกอบการนำส่งเอกสารการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลก ที่ไทยได้นำส่งไปแล้วเมื่อต้นปี 2563 ทั้งนี้การพิจารณาแห่งมรดกโลกภายใต้อนุสัญญา จะมีขึ้นอีกครั้งในการประชุม รัฐภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญามรดกโลกครั้งที่ 44 ในกลางปี พ.ศ. 2564 โดยจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับคำชื่นชม และเห็นภาพรวมของกลุ่มป่าแก่งกระจานจากกิจกรรมตลอดทั้ง 3 วัน .-สำนักข่าวไทย