กทม. 2 ต.ค.-สวทช. จับมือ ทช. ด้านการวิจัยอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่อยู่ในความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เก็บเป็นข้อมูลสำคัญสร้างฐานข้อมูลจีโนมพืชป่าชายเลนครั้งแรกในไทย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การวิจัย พัฒนา และวิชาการ เกี่ยวกับป่าชายเลน ณ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยมีผู้อำนวยการ สวทช. และดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมลงนามความร่วมมือ
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน โดยนำทรัพยากร เทคโนโลยีนี และนวัตกรรมโดยฉพาะศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ และธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยการวิจัยแนวหน้าในระดับจีโนมและพันธุกรรม โปรตีนและการแสดงออกของยีน วิธีการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมและชีววัสดุในระยะยาว โดยจะร่วมกันศึกษาวิจัยพันธุ์ไม้ป่าชายเลน โดยเฉพาะชนิดที่มีการแพร่กระจายน้อย หายาก ใกล้สูญพันธุ์ โดยผลงานวิจัยมุ่งเป้าให้เกิดฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิงของพืชป่าชายเลนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย วิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมในสภาพปลอดเชื้อระยะยาว ใช้สำหรับคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ป่าชายเลน เกิดการปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต สร้างความมั่นคงทางอาหารและทางระบบนิเวศให้กับป่าชายเลนในประเทศไทยคงความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีรายได้ และเกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
นายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. กล่าวว่า ระบบนิเวศชายฝั่งมีความสำคัญในการยกระดับพื้นที่อย่างมาก โดย หากมีการบริหารจัดการและนำความรู้ไปใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูในถิ่นกำเนิด เสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี 2564 2565 ในพื้นที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1-6 ของ ทช. เป็นหน่วยงานภาคสนาม ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนในฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน 24 จังหวัด
ด้าน ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ กล่าวว่า ป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญ มีพันธุ์พืชมากกว่า 80 ชนิด ซึ่งเป็นพืชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ทำให้ป่าชายเลนกลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่สำคัญของประมงชายฝั่ง สร้างอาชีพ และรายได้ให้ชุมชน โดยปัจจุบัน สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 ซึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนแห่งแรกของโลกที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่บ้านเสม็ดงาม จ. จันทบุรี จะเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนจากทั่วโลกมาไว้ที่นี่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และการวิจัยป่าชายเลนในระดับนานาชาติ.-สำนักข่าวไทย