กรุงเทพฯ 17 ก.ย. – รมว.เกษตรฯ กำชับอธิบดีกรมชลประทาน รับมือฝนตกเพิ่ม เน้นย้ำการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง หากจำเป็นต้องอพยพ ส่วนประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำให้ตรวจสอบและเสริมความมั่นคงแข็งแรง สำหรับแผนระยะยาวได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้เป็นนโยบายรัฐบาลในการจัดทำโครงการขนาดใหญ่เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานถึงสถานการณ์น้ำจากอธิบดีกรมชลประทานที่เตรียมมาตรการรับมือฝนที่จะตกเพิ่มตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้เน้นย้ำให้ส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแจ้งเตือนประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่จำเป็นต้องอพยพออกจากบ้านเรือน พร้อมกันนี้ยังกำชับให้ตรวจสอบและเสริมความมั่นคงแข็งแรงของประตูระบายน้ำและพนังกั้นน้ำต่าง ๆ ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการล่วงหน้าแล้ว
สำหรับแผนระยะยาวนั้น ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ครั้งที่ 1/2567 ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (16 ก.ย.) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานพร้อมเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญๆ แต่ขอให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันเนื่องจากต้องศึกษารอบด้านและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย พร้อมขอให้นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานคณะกรรมการที่จะศึกษาทบทวนโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่กรมชลประทานเคยศึกษาไว้ว่า รัฐบาลจะนำโครงการใดมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงจัดลำดับความสำคัญ โดยคาดว่านายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ มาดูแล โดยการดำเนินการในนามรัฐบาลจะทำให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพเนื่องจากจะต้องประสานกับหน่วยราชการอื่นด้วยเช่น การขอใช้พื้นที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่กรมชลประทานเสนอว่า จำเป็นต้องดำเนินการเช่น การสร้างคลองระบายน้ำเลี่ยงเมือง จังหวัดเชียงราย อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำยมซึ่งเป็นลุ่มน้ำเดียวที่เป็นต้นน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งไม่มีอ่างเก็บน้ำทำให้เกิดน้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซาก โครงการขนาดใหญ่จะเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนถึงข้อกังวลเกี่ยวกับกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยจะต้องพิจารณาว่า จะมีจุดร่วมอย่างไร เมื่ิอเปรียบเทียบกับประโยชน์ของการสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำ
นางนฤมล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับความรวดเร็วในการเข้าช่วยเหลือประชาชนและหารือว่า มีวิธีการใดที่จะชดเชยความเสียหายให้แก่ประชาชนได้มากที่สุด โดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอให้มีการลดค่าน้ำและค่าไฟให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อุทกภัย ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้มีการวางแผนป้องกันปัญหาอุทกภัยในระยะยาว แทนที่จะต้องเสียงบประมาณในการเยียวยาซึ่งมากกว่าการป้องกันแน่นอน
ขณะที่เช้าวันนี้นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือฤกษ์ในเวลา 08.19 น. เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในห้องพิรุณ 130 สักการะศาลพระภูมิชัยมงคล สักการะศาลท้าวเวสสุวรรณ สักการะศาลตา – ยาย สักการะองค์พระพิรุณทรงนาค (หน้าอาคาร) และสักการะองค์พระพิรุณทรงนาค (ห้องพิพิธภัณฑ์) เพื่อความเป็นสิริมงคลในการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย. -512 – สำนักข่าวไทย