กรุงเทพฯ 17 ก.ค.-อธิบดีกรมประมง ระบุกฎหมายประมงปัจจุบัน ยังเอาผิดหรือเรียกค่าเสียหายต่อผู้นำเข้า “ปลาหมอคางดำ” ไม่ได้ กรณีที่อาจเป็นต้นเหตุให้หลุดเข้าสู่ระบบนิเวศ แต่ได้บรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่แล้ว พร้อมติดตามการวิจัย “ปลาเก๋าหยก” ของ CPF ใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย เปิดใจคิดไม่ต่างจากสังคมเรื่องความรับผิดชอบ แม้ไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่สามารถรับผิดชอบด้วยจิตสำนึก
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า กรมประมงเคยอนุญาตให้ภาคเอกชนนำเข้า “ปลาหมอคางดำ” เพียงรายเดียวในปี 2553 บริษัทแจ้งขออนุญาตนำเข้าเพื่อเข้ามาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ในปี 2549 การนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่โดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นทางวิชาการจากคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) เมื่อได้รับอนุญาตนำเข้าแล้ว เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์น้ำกรมประมงจะตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำนั้นจนสู่แหล่งทดลองที่ได้รับการอนุญาต

บริษัทนำเข้ามา 2,000 ในเดือนธันวาคม 2553 ผ่านด่านตรวจสัตว์น้ำที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากนั้นนำไปยังฟาร์มเพาะเลี้ยงที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยกระบวนการขออนุญาตดำเนินการอย่างถูกต้อง แต่บริษัททำผิดเงื่อนไขเกี่ยวกับการกำจัดซากในภายหลังเนื่องจากมีเงื่อนไขกำหนดดังนี้
- ต้องเก็บตัวอย่างด้วยการดองในน้ำยาส่งให้กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง
- เมื่อสิ้นสุดการวิจัย ต้องรายงานผลวิจัย หากการวิจัยไม่เป็นไปตามเป้าหมายและไม่ประสงค์จะวิจัยต่อ ให้ทำลายซากทั้งหมด โดยแจ้งกรมประมงเพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการทำลาย
ตามข้อมูลที่สืบค้นได้ บริษัทได้ยุติการวิจัยในเดือนมกราคม 2554 โดยกล่าวอ้างว่า ส่งตัวอย่างปลาซึ่งดองฟอร์มาลีนในขวดตัวอย่าง ขวดละ 25 ตัว จำนวน 2 ขวด รวม 50 ตัวให้แก่กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืดแล้วนั้น ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อมูลจากห้องเก็บตัวอย่างซากสัตว์น้ำทั้งตัวสำหรับอ้างอิงความหลากหลายของประชากรสัตว์น้ำและห้องปฏิบัติการธนาคาร DNA ซึ่งเก็บเนื้อเยื่อและเลือดเพื่อตรวจสอบสารพันธุกรรม ยืนยันว่า ไม่พบข้อมูลการรับตัวอย่างมาจัดเก็บและไม่พบขวดตัวอย่างปลาหมอคางดำที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
การผิดเงื่อนไขขออนุญาตนำเข้าของบริษัทแห่งนี้ มีโทษเพียงจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าปลาหมอคางดำมาเพื่อวิจัยอีกเท่านั้น ตามพ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 ไม่ได้กำหนดโทษหรือกำหนดให้ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น หากสัตว์น้ำที่ขออนุญาตนำเข้าหลุดเข้าสู่ระบบนิเวศ
จากการสืบค้นข้อมูลที่ไม่พบตัวอย่างปลาหมอคางดำที่บริษัทขออนุญาตนำเข้า ทำให้ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า DNA ตรงกับปลาหมอคางดำที่ระบาดขณะนี้หรือไม่ ตามที่สังคมเรียกร้อง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สั่งการด่วนให้กรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ หากกรมประมงพบหลักฐานใดๆ เพิ่มเติม จะเร่งดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการเพื่อหาต้นตอและหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม
ส่วนประเด็นที่มีการระบุว่า มีข้อมูลจากกองควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิตของกรมประมงรายงานว่า มีการส่งออกปลาหมอคางดำเพื่อเป็นปลาสวยงามระหว่างพ.ศ. 2556-2559 ไปยัง 15 ประเทศได้แก่ แคนาดา ซิมบับเว ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รัสเซีย มาเลเซีย อาเซอร์ไบจาน เลบานอน ปากีสถาน อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล อิหร่าน โปแลนด์ และตุรกี รวม 323,820 ตัว มูลค่า 1,510,050 บาทนั้น ยังไม่ทราบข้อมูลนี้มาก่อนซึ่งรับจะไปตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวยังถามถึงโครงการวิจัย “ปลาเก๋าหยก” ที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟขออนุญาตกรมประมงนำเข้ามาวิจัยปรับปรุงพันธุ์เมื่อปี 2561 เพื่อผลักดันให้เป็นปลาเศรษฐกิจชนิดใหม่ โดยมีการวิจัยที่วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ปลาของซีพีเอฟที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามซึ่งการวิจัยระยะที่ 2 ดำเนินการระหว่างพ.ศ. 2565-2567 ซึ่งจะสิ้นสุดภายในอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้า ได้มีการติดตามตรวจสอบเพื่อไม่ให้หลุดเข้าไปในสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับปลาหมอคางดำหรือไม่ นายบัญชากล่าวว่า ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด
นายบัญชากล่าวว่า มีความรู้สึกเช่นเดียวกับที่คนในสังคมรู้สึกเรื่องที่ผู้สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจการประมง ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ก่อขึ้น ในทางกฎหมายไม่สามารถบังคับให้รับผิดชอบได้ แต่เห็นว่า ความรับผิดชอบมี 2 ส่วนคือ ความรับผิดชอบทางกฎหมายและความรับผิดชอบโดยจิตสำนึก
ในห้วงปี 2553 นั้น ตนเองเป็นประมงจังหวัดจันทบุรี เมื่อมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประมงในปัจจุบัน สิ่งที่จะทำได้คือ การเสนอให้บรรจุการดำเนินคดีทางอาญาและเรียกค่าเสียหายต่อผู้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศเข้าไปในร่างพ.ร.บ. ประมงฉบับใหม่ เป็นการถอดบทเรียนจากวิกฤติ “ปลาหมอคางดำ” อีกทั้งจะพยายามแก้ไขปัญหานี้ เพื่อกอบกู้ความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลาน. 512 – สำนักข่าวไทย