กรุงเทพฯ 14 ม.ค. – สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติคาด ราคาหมูหน้าฟาร์มจะทยอยปรับขึ้นจนเข้าสู่ต้นทุน แต่จะปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป เชื่อ “หมูเถื่อน” ไม่มีลักลอบนำเข้ามาใหม่แล้ว แต่อาจยังมีตกค้างในห้องเย็นต่างๆ จึงต้องแก้ทั้ง “หมูเถื่อน- หมูถูก” ไปพร้อมกัน โดยมั่นใจว่า ราคาในปี 67 จะไม่ได้ขยับขึ้นจนผู้บริโภคเดือดร้อน หากภาครัฐช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มได้เริ่มปรับขึ้นแล้ว 2 บาทต่อกิโลกรัมเมื่อวันพระที่ 10 มกราคม 2567 ทำให้ราคาอยู่ที่ 68 – 74 บาทต่อกิโลกรัมตามแต่ละภูมิภาค คาดว่า ราคาจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นจนเข้าสู่ต้นทุนซึ่งอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่การปรับเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค
ทั้งนี้ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องปรับราคาหน้าฟาร์มเพื่อลดผลกระทบจากภาวะขาดทุนนาน 11 เดือน โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยซึ่งมีต้นทุนสูงกว่ารายใหญ่และขายราคาหน้าฟาร์มได้ต่ำกว่า ขณะเดียวกันเชื่อว่า การปรับราคาหน้าฟาร์มจะไม่กระทบผู้บริโภคเนื่องจากราคาชิ้นส่วนสุกรก่อนหน้านี้สูงกว่าปัจจุบัน โดยหมูเนื้อแดงราคาประมาณ 160 – 170 บาทต่อกิโลกรัม หากราคาหน้าฟาร์มปรับสู่ต้นทุนที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ราคาหมูเนื้อแดงจะอยู่ที่ประมาณ 160 บาทต่อกิโลกรัมเช่นเดิม
จากการหารือกับโมเดิร์นเทรดเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน เป็นการหารือเพื่อขอความร่วมมือรักษาเสถียรภาพราคา ไม่ให้แข่งขันกันจัดโปรโมชันลดราคาชิ้นส่วนสุกรซึ่งส่งผลให้เกิดการกดราคาหน้าฟาร์ม โดยทางผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดยินดีร่วมมือ
นอกจากนี้ยังได้เข้าหารือกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เรื่องการกำหนดโครงสร้างราคาสุกรให้สอดคล้องกับต้นทุน รวมถึงแก้ปัญหาด้านต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้า โดยต้นทุนอาหารสัตว์คิดเป็นร้อยละ 70 ของการเลี้ยง นายภูมิธรรมได้รับเรื่องและให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกลับมารวบรวมข้อมูล แล้วนำไปหารืออีกครั้งในวันที่ 26 มกราคม
สำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งตรงกับวัน 10 กุมภาพันธ์นั้น ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มจะปรับขึ้นจากปัจจุบันเล็กน้อยเท่านั้น แต่ผู้เลี้ยงจะสามารถจำหน่ายได้ในปริมาณมากขึ้น ส่วนราคาเฉลี่ยในปี 2567 เชื่อว่า จะไม่ได้ปรับเพิ่มจนทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน หากภาครัฐช่วยเหลือด้านต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เช่น การงดเว้นเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง จากที่เก็บอยู่ร้อยละ 2 การยกเลิกใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 หรือมาตรการซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน โดยขอให้แก้ปัญหา “หมูเถื่อน-หมูถูก” ไปพร้อมกันเพื่อให้ผู้เลี้ยงสามารถอยู่ได้ด้วย หากผู้เลี้ยงล้มหายจากไป ปริมาณสุกรในประเทศจะไม่เพียงพอและต้องนำเข้าในอนาคต
ในสัปดาห์ที่ผ่านมานายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์วิเคราะห์โครงสร้างราคาสินค้าเกษตรที่ต้นทุนสูงขึ้นทุกชนิด โดยระบุว่า ต้องวิเคราะห์ต้นทุนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้รายได้ของแต่ละส่วนสมดุลกัน ที่ผ่านมานำโครงการธงฟ้ามาช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าซึ่งช่วยได้ชั่วคราว แต่การแก้ไขที่แท้จริงต้องแก้ไขที่โครงสร้างราคาทั้งหมด โดยพร้อมรับฟังทุกภาคส่วนและจะเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ประสานกับกรมการค้าภายในภายใต้กลไกคณะทำงานรักษาเสถียรภาพราคาสุกรของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) โดยเบื้องต้นต้องการกำหนดราคาสุกรให้สอดคล้องกันต้นทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้สามารถขายสินค้าในราคาที่เป็นธรรมนั้น จะลดปัญหาการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง โดยไม่กระทบต่อผู้บริโภค
สิ่งสำคัญอีกประการคือ การลดต้นทุนด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการผลิตสุกร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์เพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนคือ ข้าวโพดและถั่วเหลือง ขณะนี้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรนำร่อง 500 ตำบล ขณะเดียวกันให้กรมปศุสัตว์แนะนำเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบทดแทนในสูตรอาหารสัตว์ต่างๆ . -512 -สำนักข่าวไทย