กรุงเทพฯ 4 ส.ค. – Egg Board ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ปลดไก่ไข่ตามอายุที่กำหนดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง ด้านผู้เลี้ยงหวังคงสมดุลของการผลิตและความต้องการบริโภคเพื่อให้ราคาอยู่ในระดับที่ตกต่ำจนเกินไปจนผู้เลี้ยงอยู่ไม่ได้ แต่ไม่แพงจนผู้บริโภคเดือดร้อน
กรมปศุสัตว์ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ปลดไก่ไข่ยืนกรงตามอายุที่เหมาะสม จากการร่วมประชุมหารือกับผู้แทนสมาคมผู้ผลิตไข่ไก่ ผู้แทนสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ และผู้แทนผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์เพื่อกำหนดแนวทางรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ดังนี้
- ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป ให้มีการปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 78 สัปดาห์ จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 หลังจากนั้นให้ปลดที่อายุไม่เกิน 80 สัปดาห์
- เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไขที่มีขนาดการเลี้ยงไม่เกิน 100,000 ตัว ให้ปลดไก่ไข่ยืนกรงที่อายุไม่เกิน 80 สัปดาห์
ทั้งนี้ยกเว้นผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัวที่มิใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่ ฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยงในรูปแบบอื่นๆ ได้แก่ เลี้ยงปล่อย (free range) ปศุสัตว์อินทรีย์ (organic livestock) ไม่ใช้กรง (cage free) หรือสถานที่เลี้ยงไก่ไข่สำหรับวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการจำหน่ายเชิงพาณิชย์เช่น ฟาร์มไก่ไข่ของรัฐ สถานศึกษา หรือสถาบันวิจัย
สำหรับการขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกรายปลดไก่ไข่ยืนกรงดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการผลิตไข่ไก่ภายในประเทศที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาราคาไข่ไก่ผันผวนตามมา เนื่องจากตั้งแต่มิถุนายน 2566 ราคาไข่ไก่ภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราการส่งออกไข่ไก่สดปรับตัวลดลง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมได้ จึงต้องรักษาสมดุลระหว่างการผลิตและความต้องการบริโภค
ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 31 พฤษภาคม 2566) จำนวนไก่ไข่ยืนกรง 52.08 ล้านตัว ประมาณการผลผลิตไข่ไก่ 43.22 ล้านฟองต่อวัน คาดการณ์ต้นทุนการผลิตไขไก่ไตรมาส 2/66 ของ Egg Board ฟองละ 3.70 บาท โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และพันธุ์สัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่แจ้งว่า มีความจำเป็นต้องปรับราคาไข่ไก่ตามต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายธนวุฒิ เอื้อละพันธ์ รองประธานกรรมการ บริษัท อัครา กรุ๊ป จํากัดและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด Egg Board ระบุว่า ผลผลิตของกลุ่มไก่ไข่ 95-97 % เป็นการบริโภคภายในประเทศ การส่งออกเป็นเพียงการปรับซับพลายในช่วงที่เกิดภาวะล้นตลาดเท่านั้น โดยมีฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นผู้นำเข้าหลักซึ่งเป็นการส่งออกที่ผู้ประกอบการขาดทุน
ปัจจุบันการบริโภคไข่ของคนไทยอยู่ที่เฉลี่ย 223 ฟองต่อคนต่อปี ก่อนหน้านี้มีแผนจะเพิ่มการบริโภคของคนไทยขึ้นเป็น 300 ฟองต่อคนต่อปีในพ.ศ. 2562-2563 แต่ยังไม่สามารถทำให้ได้ถึงเป้าหมาย
ขณะนี้ราคาไข่คละหน้าฟาร์มจำหน่ายได้ที่ฟองละ 4.00 บาท ต้นทุนการผลิตไขไก่ไตรมาส 2/66 ของ Egg Board ฟองละ 3.70 บาท โดยต้นทุน 71% เป็นต้นทุนอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องการให้เกิดความสมดุลของการผลิตและความต้องการบริโภคเพื่อให้ราคาอยู่ในระดับที่ตกต่ำจนเกินไปจนผู้เลี้ยงอยู่ไม่ได้และไม่แพงจนผู้บริโภคเดือดร้อน
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์เข้ามาช่วยในช่วงราคาตกต่ำเช่น การปลดไก่ไข่ยืนกรงตามอายุที่เหมาะสม การลดแม่พันธุ์ไก่ไข่ ขณะที่กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ตั้ง “กองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่” ขึ้นมาเพื่อช่วยบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับการบริโภคได้เป็นอย่างดี.- สำนักข่าวไทย