กรุงเทพฯ 28 มิ.ย. – Egg Board คาดการณ์ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ในไตรมาส 2/2566 เฉลี่ยฟองละ 3.70 บาท ขณะที่ราคาขายไข่คละหน้าฟาร์มปัจจุบันฟองละ 3.80 บาท โดยต้นทุนสูงขึ้น 17.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 พร้อมเห็นควรเสนอให้พิจารณาลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง เพื่อช่วยเหลือด้านต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่
นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ครั้งที่ 1/2566 ที่ประชุมโดยคาดการณ์ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ในไตรมาส 2/2566 เฉลี่ยฟองละ 3.70 บาท สูงขึ้นจากไตรมาส 1/2566 ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ยฟองละ 3.67 บาท โดยราคาขายไข่คละหน้าฟาร์มขณะนี้อยู่ที่ ฟองละ 3.80 บาท เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตในไตรมาส 2/2566 กับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 พบว่า สูงขึ้น ร้อยละ 17.46 เนื่องจากค่าพันธุ์สัตว์ ราคาอาหารสัตว์ วัคซีน ยาป้องกันโรค ค่าน้ำ และค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับสถานการณ์ไก่ไข่ปัจจุบัน มีจำนวนไก่ไข่ยืนกรง 52.08 ล้านตัว ประมาณการผลผลิต 43.21 ล้านฟองต่อวัน มีแผนการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ในปี 2566 จำนวน 3,800 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 1,970 ตัว คิดเป็น 50.90 % ส่วนแผนการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ปี 2566 จำนวน 440,000 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 147,746 ตัว คิดเป็น 33.58 %
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ในปี 2566 โดยเชิญผู้แทนจากสมาคมไก่ไข่ 4 สมาคม สหกรณ์ไก่ไข่ 4 สหกรณ์ ผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ 16 บริษัท และผู้แทนจากสำนักงานปศุสัตว์เขต 1 – 9 พิจารณากำหนดมาตรการร่วมกัน โดยได้กำหนดมาตรการที่ดำเนินการจนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดังนี้
1) มาตรการขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ปลดไก่ไข่ตามอายุที่เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกราย ปลดไก่ไข่ยืนกรงที่อายุไม่เกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัว ที่ไม่ใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัว ขึ้นไป ปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 78 สัปดาห์ จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566
2) มาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ ผลักดันการส่งออกหรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2566 จำนวน 65 ล้านฟอง
ส่วนสถานการณ์การส่งออกไข่ไก่สด ปี 2566 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน ส่งออกแล้ว 163.53 ล้านฟอง มูลค่า 718.96 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 179.97 และ 229.98 ตามลำดับ โดยส่งออกไปสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 66 รองลงมาคือ ฮ่องกง ร้อยละ 19
ล่าสุดกรมปศุสัตว์เจรจาเปิดตลาดส่งออกตลาดไข่ไก่สดไปไต้หวันสำเร็จ ทำให้ส่งออกไข่ไก่สดไปได้หวันแล้ว 20,828,229 ฟอง และคาดการณ์ปี 2566 จะมีปริมาณการส่งออกไข่ไก่สดจากประเทศไทยไปไต้หวันได้มากกว่า 50 ล้านฟอง มูลค่ากว่า 230 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการสร้างตลาดใหม่และสร้างเสถียรภาพด้านราคาที่เกษตรกรจำหน่ายในประเทศได้ โดยผลสำเร็จจาการเปิดตลาดและส่งออกไข่ไก่สดครั้งนี้ มาจากความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทยที่กรมปศุสัตว์กำกับดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการปลอดภัยอาหาร ตั้งแต่แหล่งที่มาของสัตว์จากฟาร์มมาตรฐาน GAP จนถึงศูนย์รวบรวมและแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ ที่ได้มาตรฐาน GMP และ HACCP สอดคล้องตามข้อกำหนดกฎหมายไทย ระเบียบของคู่ค้าและหลักสากล
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลืองนำเข้า ราคาวัตถุดิบทดแทน (ปลายข้าวและมันเส้น) และปลาป่น นอกจากนี้ Egg Board ยังมอบหมายให้กรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ เสนอข้อคิดเห็นของ Egg Board ไปยังกรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายอาหารและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช โดย Egg Board เห็นควรปรับลดภาษีกากถั่วเหลืองเหลือง ร้อยละ 0 เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมทั้งเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ.-สำนักข่าวไทย