กรุงเทพฯ 8 พ.ค.- นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเผย วันพรุ่งนี้คนเลี้ยงหมูทั่วประเทศจะรวมพลังจี้รัฐปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าและค้าหมูเถื่อน ย้ำเป็นขบวนการอภิมหาทุจริตจากการลักลอบนำเข้าหมู กินส่วนต่างมูลค่ามหาศาล ตั้งแต่ เอกชน ทุนเทา เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต้นทางถึงปลายทางแบบครบวงจร
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (9 พ.ค.) เวลา 09.00 น. ผู้เลี้ยงหมูจากทุกภาคทั่วประเทศนัดรวมตัวกันที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหารกรุงเทพมหานคร แล้วเคลื่อนสู่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้แก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าและค้าเนื้อหมูเถื่อนโดยทันที โดยเตรียมคำถาม 10 ข้อให้รัฐบาลตอบ ดังนี้
- หมูเถื่อนไหลมาโลดๆ คนปลูกข้าวโพดจะขายให้ใคร
- หมูเถื่อนไหลเข้าฝั่งไทย ชาวไร่ชาวนาจะหวังพึ่งใคร
- หมูเถื่อนไหลมาขนาดนี้ แล้วหนี้สินชาวนาจะใช้อย่างไร
- หมูไหลเรือมาอย่างโหด ชาวไร่ข้าวโพดจะอยู่อย่างไร
- หมูลักลอบเข้ามาหลายร้อยรำเรือ จะเหลือที่อยู่ให้ให้ขาวไร่นาอยู่ไหม
- หมูลักลอบเข้ามาไทยเป็นร้อยๆ ลำ ชาวนาตาดำๆ จะขายข้าวขายรำให้ใคร
- หมูเถื่อนไหลมาอย่างมโหฬาร หรือชาวนาต้องลาอาชีพเกษตรกรไทย
- หมูเถื่อนเข้าเป็นร้อยๆ คอนเทนเนอร์ ชาวไร่นาต้องรอเก้อไม่รู้จะขายพืชไร่ให้ใคร
- หมูลักลอบไหลล่องเรือมา แล้วชาวนาจะเหลืออะไร
- หมูเถื่อนกระจายทั่วไทย แล้วทำไมตรวจมาหาไม่เจอ
สำหรับสาเหตุที่ต้องให้รัฐบาลเข้ามาเร่งแก้ไขเนื่องจากมีขบวนการอภิมหาทุจริตจากการลักลอบนำเข้าหมู กินส่วนต่างมูลค่ามหาศาล ตั้งแต่ เอกชน ทุนเทา เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต้นทางถึงปลายทางแบบครบวงจร
นายสุรชัยกล่าวว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั้ง 4 ภาคได้พยายามเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหามาโดยตลอดเนื่องจากเป็นการทำลายอาชีพของผู้เลี้ยงสุกรไทย โดยราคาสุกรหน้าฟาร์มได้ตกต่ำลงต่อเนื่อง แต่ยังคงพบว่า มีการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนหมูเข้ามามากทางเรือ
ล่าสุดได้ทำหนังสือถึงนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมสำเนาถึงนายฐิติพงศ์ คำผุย ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร 1 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยสมาคมขอให้ทำลายสินค้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรในตู้ที่ตกค้างอยู่ในท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ เป็นเวลา 7-8 เดือน พร้อมให้กรมศุลกากรชี้แจงถึงแนวทางการดำเนินการแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูมายังสมาคมภายในวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการยืนยันว่า ไม่มีการปล่อยปละละเลยให้เกิดการกระทำความผิด ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศกับหน่วยงานราชการ ที่อาจนำไปสู่ปัญหาการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย
สำหรับประเด็นที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติต้องการขอกรมศุลกากรดำเนินการโดยเร่งด่วนเกี่ยวกับตู้สินค้าเนื้อสุกรแช่แข็งที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังได้แก่
- ขอให้ส่งทำลายสินค้าเนื้อสุกรในตู้ที่ตกค้างทั้งหมด 161 ตู้
- ขอให้เปิดเผยรายชื่อผู้กระทำผิดซึ่งนำเข้าสินค้าเนื้อสุกรแช่แข็งที่ตกค้างทั้งหมด 161 ตู้ ขอรายชื่อผู้ประกอบการนำเข้า ที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานราชการไว้ทั้งหมด 27 ราย หรืออาจจะมีมากกว่าจำนวนดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน
- ขอตัวเลขจำนวนการส่งตู้สินค้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรผิดกฎหมายที่ตกเป็นของแผ่นดินและส่งให้กรมปศุสัตว์เพื่อทำลายในปีงบประมาณ 2565-2566
ที่ผ่านมาสมาคมได้สนับสนุนเงิน 1 ล้านบาทแก่กรมปศุสัตว์เพื่อใช้ทำลายหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามา แต่ปัจจุบันภาคเอกชนไม่มีเงินจะสนับสนุนแล้ว
นอกจากนี้ได้เสนอขอนัดหมายอธิบดีกรมศุลกากรเพื่อประชุมร่วมระหว่างกรมศุลกากรและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเพื่อหารือถึงการแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนดังกล่าวอย่างเบ็ดเสร็จ
ส่วนข้อเสนอของผู้บริหารระดับสูงของบางหน่วยงานที่แนะนำให้มีการนำตู้คอนเทนเนอร์บรรจุชิ้นส่วนสุกรที่ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบังตีกลับออกไปนอกราชอาณาจักร (reexport) ไม่ถือเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะจากการเฝ้าสังเกตการณ์ของสมาคมมาระยะหนึ่งพบว่า เรือที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตีกลับไปยังประเทศต้นทาง แต่มีจุดหมายปลายทางที่ประเทศกัมพูชา หลังจากนั้นมีการทยอยลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนสุกรกลับเข้ามายังประเทศไทยทางด้านหลายจังหวัดในภาคตะวันออก
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนซึ่งเพิ่มอย่างมากตั้งแต่ต้นปี 2565 สร้างความเสียหายต่อตลาดการค้าสุกรมีชีวิตเนื่องจากหมูเถื่อนที่มีต้นทุนต่ำกว่าหมูที่เลี้ยงภายในประเทศ ทำให้เกิดแรงกดดันต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ต้องขายหมูขาดทุนตัวละ 2,000-3,000 บาท หากพิจารณาภาพรวมความเสียหายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100-150 ล้านบาทต่อวัน คิดจากจำนวนหมูที่เข้าโรงฆ่าเฉลี่ย 50,000 ตัวต่อวันในปัจจุบัน จึงเป็นการทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศไทย
สำหรับสภาวะราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มทุกภูมิภาคอ่อนตัวลงต่อเนื่อง ราคาอยู่ระหว่าง 70-79 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นอยู่แต่ละภาค ขณะที่ผู้เลี้ยงยังต้องเผชิญปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงเป็นปัญหาทั้งระบบ ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม โดยคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกรของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์จะประชุมพิจารณาคาดการณ์ต้นทุนไตรมาส 2/2566 ในวันที่ 10 พ.ค. นี้ .-สำนักข่าวไทย