กรุงเทพฯ 28 เม.ย.- อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเผย พายุฝนฟ้าที่ตกช่วงบ่ายถึงค่ำระยะนี้ มาจากทิศทางลมและอากาศแปรปรวนห้วงเริ่มเปลี่ยนถ่ายฤดูกาลจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยต้องระวังเช่นเดียวกับพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันพรุ่งนี้จนถึงวันที่ 1 พ.ค.
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวถึงพายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล รวมทั้งภาคใต้ในช่วงบ่ายวันนี้ว่า เกิดจากทิศทางลมและอากาศที่แปรปรวนในช่วงเริ่มเปลี่ยนถ่ายฤดูกาลจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้มีฝนตก ลมกระโชกแรง ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า สภาพอากาศเป็นลักษณะเดียวกันกับพายุฤดูร้อน แต่เกิดจากปัจจัยที่ต่างกัน โดยพายุฝนฟ้าคะนองจากการเปลี่ยนถ่ายฤดูมักเกิดในช่วงบ่ายถึงค่ำ แต่ทั้งเชิงพื้นที่และปริมาณในวันนี้ ลดน้อยลงกว่าเมื่อวาน
จากการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมและภาพเรดาร์ เวลา 14.25 น. ที่ผ่านมา ตรวจพบกลุ่มเมฆและฝนปกคลุมบริเวณกทม. ตอนบน จังหวัดนครราชสีมา และบางพื้นที่ของภาคตะวันออก โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สำหรับภาคเหนือยังมีอากาศยังร้อนบางพื้นที่ มีฝนน้อยเนื่องจากยังมีลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ส่วนภาคใต้มีลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น คลื่นลมแรงขึ้นด้วย
ส่วนพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. – 1 พ.ค. เกิดจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ทั้งนี้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนรอบใหม่ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.- 1 พ.ค. มากถึง 63 จังหวัด พื้นที่ต้องเฝ้าระวังคือ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยพื้นที่ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังคือ ภาคใต้เนื่องจากนอกจากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองแล้ว จะมีคลื่นสูงในวันที่ 1-3 พ.ค. ขอให้ชาวเรือและชาวประมงเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง.-สำนักข่าวไทย