กรุงเทพฯ 4 มี.ค.- อธิบดีกรมอุทยานฯ เผยสั่งเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดนกในนกธรรมชาติและนกอพยพอย่างเข้มงวด พร้อมร่วมตรวจตราการนำเข้าสัตว์ผ่านชายแดนไทย-กัมพูชา หลังมีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนกในกัมพูชา 2 ราย ล่าสุดลงนามร่วม 3 หน่วยงาน กรมอุทยานฯ – กรมปศุสัตว์ – กรมควบคุมโรค จัดตั้งศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียวเพื่อเตรียมรับมือและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า สั่งการให้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดนกในนกธรรมชาติและนกอพยพ หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนกทั่วโลกทั้งในสัตว์ปีกและคนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล่าสุดมีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศกัมพูชา 2 ราย
ทั้งนี้นายอรรถพลได้ลงร่วมกับนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคและนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคไข้หวัดนกภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว โดยนำแนวทางการปฏิบัติของสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมไว้ด้วยกัน พร้อมกันนี้ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียว (Coordinating Unit for One Health) ซึ่งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ของทั้ง 3 หน่วยงานจะทำงานร่วมกัน ตลอดจนแบ่งปันข้อมูล เตรียมการรับมือโรคไข้หวัดนก (H5N 1) และเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีโรคไข้หวัดนก โดยเฉพาะบริเวณด่านช่องทางเข้า – ออกพื้นที่ชายแดน
นายอรรถพลกล่าวว่า กรมอุทยานฯ จะเฝ้าระวังร่วมกับจังหวัดชายแดนไทยกัมพูชาในการตรวจตราผู้เดินทางและร่วมกับกรมปศุสัตว์ดูแลการนำเข้าสัตว์จากชายแดน ตลอดจนร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ติดตามสัตว์ป่วยในพื้นที่โดยเฉพาะสัตว์ปีกด้วย
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่าซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียวกล่าวว่า กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดนกทั้งในนกประจำถิ่น นกอพยพ นกในตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ตลอดจนนกในตลาดค้าชายแดนหรือแนวตะเข็บชายแดนอย่างต่อเนื่อง โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติและศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ กรมปศุสัตว์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการ โดยการเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกในนกธรรมชาติถือเป็นสิ่งสำคัญในเฝ้าระวังโรค แล้วนำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินสถานการณ์ของโรคและนำไปสู่การสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในประเทศ
สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 รายแรกในปี 2547 และรายสุดท้ายในปี 2549 รวม 25 ราย มีผู้เสียชีวิต 17 ราย คิดเป็นอัตราป่วยเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูง ปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยและยังไม่มีรายงานการพบโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในประเทศไทยในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา แต่จากการพบผู้ป่วยในกัมพูชา ทำให้มีความเสี่ยงที่อาจจะกลับมาระบาดในประเทศไทยอีกครั้ง จึงต้องยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค
นอกจากนี้กรมอุทยานฯ ยังได้สุ่มเก็บตัวอย่างจากสัตว์ป่ากลุ่มอื่นๆ เช่น ค้างคาว ลิง เป็นต้น เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่สำคัญเช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า โรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ โรคฝีดาษวานร โรคไข้มาลาเรีย โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลเชื้อไวรัสในสัตว์ป่าที่สำคัญที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สร้างกลไกการเฝ้าระวังโรคสัตว์สู่คนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย