เพชรบุรี 12 ม.ค. – กระทรวงเกษตรฯ ฝังทำลายหมูเถื่อนกว่า 700,000 กิโลกรัม มากสุดเป็นประวัติการณ์ “เฉลิมชัย” สั่งกรมปศุสัตว์ลุยปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนต่อเนื่อง ปกป้องอาชีพของเกษตรกรและคุ้มครองผู้บริโภค อธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุ วิธีทำลายเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีฝังทำลายชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรของกลางลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เพชรบุรี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
วันนี้มีการฝังทำลายชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรของกลางมากถึง 723,786 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 123 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องใช้รถบรรทุกสิบล้อพ่วง 35 เที่ยว รถบรรทุกสิบล้อ 3 เที่ยว รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 1 เที่ยวเคลื่อนย้ายมายังจุดฝังกลบ ถือเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เคยดำเนินการมา
สำหรับเนื้อและเครื่องในสุกรที่ฝังทำลายนั้น กรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรอย่างเคร่งครัดเสมอมา ซึ่งได้ย้ำให้กรมปศุสัตว์เดินหน้าปราบปรามการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะรายย่อยและคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรที่ลักลอบนำเข้าโดยไม่ผ่านการตรวจสอบอาจมีเชื้อโรคระบาดต่อสัตว์และไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงทำลายกลไกราคาสุกรภายในประเทศ สร้างความเสียหายต่อระบบการเลี้ยงสุกรของประเทศไทยอย่างมหาศาล
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และกรมศุลกากรดำเนินการทางกฎหมายเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรจำนวน 42 คดี ปริมาณน้ำหนักรวม 1,089,514 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 219 ล้านบาท
การดำเนินการกับซากสุกรของกลาง แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ทำลายแล้ว 179,612 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 71 ล้านบาท ส่วนที่สองอยู่ในระหว่างดําเนินคดี 186,116 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 25 ล้านบาท เมื่อคดีสิ้นสุดจะได้ดำเนินการทำลายต่อไป และส่วนที่สามรวบรวมเพื่อทำลายในวันนี้ 723,786 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 123 ล้านบาท โดยชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรของกลาง ส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตมาจากต่างประเทศ เช่น ประเทศบราซิล ประเทศเยอรมนี ประเทศอิตาลี เป็นต้น
ทั้งนี้ วิธีการฝังทำลายชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรของกลางเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health หรือ WOAH) ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมในการทำลายซากและของเสียจากสัตว์ปริมาณมากที่สามารถทำได้ง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม.-สำนักข่าวไทย