กรุงเทพฯ 29 ก.ย.- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมยินดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ครบรอบ 50 ปี ระบุวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ มอบนโยบายเดินพัฒนาสหกรณ์ ยกระดับสร้างรายได้มั่นคง มุ่งสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สมาชิก
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวมอบนโยบายในการทำงานเพื่อพัฒนาสหกรณ์และการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 50 ปี โดยมีนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมในพิธี
ในการนี้ ได้มีพิธีอ่านสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ครอบรอบ 50 ปี พร้อมมอบรางวัลเลิศรัฐ รางวัลพัฒนาการบริการ สาขาบริการภาครัฐ รางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และรางวัลร่วมใจแก้จน สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ให้กับผู้แทนสำนักงานสหกรณ์จังหวัดที่ได้รับรางวัล
ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมกล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับสถาบันเกษตรกร และพี่น้องเกษตรกรมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง จึงถือเป็นโอกาสที่จะนำนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาภาคการเกษตรไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น ซึ่งตลอดปีงบประมาณพ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์สามารถสนองงานเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องสำคัญ ๆ ได้หลายเรื่อง ได้รับการยอมรับในระดับกระทรวงและระดับรัฐบาล ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่มีการนำสหกรณ์มาเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ สามารถเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ และช่วยเหลือ ดูแลบรรเทาปัญหาต่างๆให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการแก่สมาชิก
รมช.มนัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ได้ให้นโยบายในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค จึงได้กำหนดนโยบายต่าง ๆ ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์นำไปแนะนำส่งเสริมเกษตรกร เช่นการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ตามโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร นอกจากนี้ โครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ต ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรมจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างสหกรณ์และเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันขยายโอกาสทางการตลาดสินค้าของสหกรณ์ผู้ผลิตผ่านร้านสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ และการส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ รวมทั้ง การสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ รวมถึงเชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการ ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาด้านการผลิตและด้านการตลาดสินค้าเกษตร สนับสนุนการขยายเครือข่ายธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ เพื่อยกระดับการพัฒนาเกษตรกรไปสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพการเกษตรที่มีความเข้มแข็งต่อไป
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้ ขอให้ทุกคนช่วยกันทำงาน เพื่อยกระดับสหกรณ์ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญต้องสนับสนุนและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสหกรณ์ทั้งของตนเองและในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถเป็นหลักในการสนับสนุน ช่วยเหลือ และบริการให้กับสมาชิกนำมาสู่การพัฒนาและต่อยอดในกระบวนการส่งเสริมสหกรณ์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
สำหรับงานสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 50 ปี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 30 กันยายน 2565 ณ โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์จังหวัด ข้าราชการ พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 600 คน เพื่อรับทราบนโยบาย รวมถึงแนวทางปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ตามแผนยุทธศาสตร์
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2515 มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ กำกับ และดูแลระบบสหกรณ์ของประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “การสหกรณ์มั่นคง สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนยั่งยืน” ปัจจุบันประเทศไทย มีจำนวนสหกรณ์ 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและสหกรณ์ออมทรัพย์ รวม 7,668 แห่งทั่วประเทศ สมาชิกรวม 11.36 ล้านคน แบ่งเป็น สหกรณ์ในภาคเกษตร 3,506 แห่ง สมาชิก 6.3 ล้านคน สหกรณ์นอกภาคเกษตร 4,184 แห่ง สมาชิก 5.037 ล้านคน มีปริมาณธุรกิจในระบบสหกรณ์รวมกว่า 2,122 ล้านล้านบาท และมีกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในการกำกับดูแลอีก 4,239 แห่ง สมาชิก 3.9 แสนคน ปริมาณธุรกิจกว่า 7,491 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ สหกรณ์เป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกรที่มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิก ซึ่งมีหน้าที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็ง ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในภาวะวิกฤติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่และภารกิจของบุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่จะต้องเข้าไปขับเคลื่อน ผลักดัน สร้างความรู้ แก่สหกรณ์อย่างรอบด้าน ทั้งด้านการผลิต การบริหารธุรกิจ การตลาดและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการยกระดับการดำเนินงานของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เป็นองค์กรที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้มวลสมาชิกได้อย่างแท้จริง .-สำนักข่าวไทย