กรุงเทพฯ 27 มิ.ย. – “รมช.มนัญญา” เปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาทุจริตในสหกรณ์ ตั้งคณะทำงาน 3 ชุดเข้าตรวจสอบสหกรณ์ เร่งรัดติดตามแก้ไขปัญหาทุจริตใกล้ชิด พร้อมวางมาตรการป้องกันเข้ม หวังแก้ปัญหาการทุจริตสหกรณ์อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ วอนสมาชิกใช้แอปพลิเคชั่นตรวจสอบสถานะทางการเงินของตนเอง ป้องปรามการทุจริตอีกทางหนึ่ง
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์” (War Room) โดยมีนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสุวิจักขณ์ ธรรมชัยพจน์ ผู้อำนวยการกองคดี 1 จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์” นี้ตั้งอยู่ชั้น 2 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้จัดตั้งขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมาเกิดการทุจริตขึ้นในสหกรณ์หลายแห่งซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์โดยรวม พบว่า มีผู้บริหารหรือฝ่ายจัดการของสหกรณ์เป็นผู้กระทำความผิด โดยใช้วิธีการซับซ้อนเพื่อปกปิดความผิด รวมถึงโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปยังบุคคลภายนอก จากการรวบรวมข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาทุจริตในระบบสหกรณ์ ทั้งสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์ออมทรัพย์เบื้องต้นประมาณ 18,000 ล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์” มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์ เร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะแก่กรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ ตลอดจนประสานความร่วมมือไปยังปปง. ดีเอสไอ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อร่วมกันติดตามยึดอายัดทรัพย์สินจากผู้ที่ทุจริตยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์ เร่งรัดการดำเนินคดีเพื่อบรรเทาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ต่างๆ จึงจัดตั้ง War Room ขึ้นเพื่อดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้แก้ไขปัญหาการทุจริต โดย War Room นี้จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการทุจริตในสหกรณ์ ติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์เป็นรายกรณี ประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งสรุปผลรายงานต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตรง เพื่อจะเป็นข้อมูลสำหรับนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ทันกับสถานการณ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นอีก 3 คณะได้แก่
1. คณะทำงานสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีเกิดการทุจริตในสหกรณ์
2. คณะทำงานรวบรวมและตรวจสอบ กรณีทุจริตของสหกรณ์
3. คณะทำงานปรับปรุงระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการตรวจสอบงบการเงิน กรรมการและผู้บริหารสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า ตรวจสอบพบข้อมูลเกี่ยวกับข้อบกพร่องและทุจริตของสหกรณ์ทั้งประเทศ 252 สหกรณ์ ความเสียหายรวม 18,000 ล้านบาท แยกเป็น สหกรณ์ในภาคการเกษตร 148 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 2,067.88 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น สหกรณ์การเกษตร 140 แห่ง 1,964 ล้านบาท สหกรณ์ประมง 2 แห่ง 3.97 ล้านบาท สหกรณ์นิคม 6 แห่ง 99.91 ล้านบาท และสหกรณ์นอกภาคการเกษตร (ออมทรัพย์ ร้านค้า เครดิตยูเนี่ยน และบริการ) 104 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 16,721.30 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ 40 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 3,300 ล้านบาท และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 37 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 13,333 ล้านบาท ทั้งนี้การทุจริตในระบบสหกรณ์ มักจะทุจริตกันในระดับฝ่ายจัดการและระดับกรรมการบริหารสหกรณ์ ส่วนในระดับสมาชิกนั้นหากในระดับจัดการหรือระดับบริหารมีการควบคุมที่ดีทำให้สมาชิกเกิดการทุจริตได้น้อย
เมื่อประมวลผลโดยแยกประเด็นการทุจริตของสหกรณ์แบ่งออกได้ 11 ประเด็นได้แก่
– ทุจริตเกี่ยวกับเงินสด 11%
– ทุจริตเกี่ยวกับเงินฝากของสหกรณ์ 6%
– ทุจริตเกี่ยวกับเงินรับฝากของสมาชิก 9%
– ทุจริตเกี่ยวกับเงินกู้ 21%
– ทุจริตเกี่ยวกับธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย 13%
– ทุจริตเกี่ยวกับธุรกิจรวบรวม 5%
– ทุจริตเกี่ยวกับธุรกิจบริการ/ส่งเสริมการเกษตร 1%
– เบิกค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ 1%
– นำทรัพย์สินของสหกรณ์ไปขายโดยมิชอบ 0%
– นำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวแล้วบันทึกบัญชีเป็นเงินยืมทดรอง 2%
– ทุจริตประเด็นอื่นๆ 11%
นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่า รูปแบบการทุจริตในสหกรณ์แยกเป็นการทุจริตเกี่ยวกับเงินกู้มากที่สุด รองลงมาเป็นการทุจริตเกี่ยวกับการจัดหาสินค้ามาจำหน่ายและทุจริตเกี่ยวกับเงินสด ปัจจุบันได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจนได้รับการชดใช้ความสียหายจากการทุจริตมาโดยลำดับตัวเลข ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เหลืออยู่ 18,333 ล้านบาท เมื่อเทียบสหกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย 252 แห่งนั้นคิดเป็นไม่ถึง 1% ของสหกรณ์ทั่วประเทศทั้งหมด 6,000 กว่าแห่งที่ยังดำเนินการปกติ
นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ดำเนินการมาตรการเชิงรุกในการจัดทีมตรวจสอบพิเศษเข้าตรวจสอบระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์ที่ตรวจสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีภาคเอกชนทุกสหกรณ์ทั่วประเทศ 1,178 สหกรณ์ ทั้งด้านการเงินการบัญชี และระบบการควบคุมภายใน จากนั้นจะขยายผลไปยังสหกรณ์อื่นต่อไป อีกทั้งให้คำแนะนำแก่สหกรณ์เกี่ยวกับจุดอ่อนจากระบบการควบคุมภายในที่ตรวจพบ โดยมุ่งหวังให้สหกรณ์นำไปปรับปรุงแก้ไขซึ่งจะช่วยให้ป้องกันการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง
ล่าสุดยกระดับการแก้ปัญหาการทุจริตโดยสร้างความตระหนักรู้แก่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์เพื่อให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเงินการบัญชีของตนเองประกอบด้วย
- ให้คณะกรรมการสหกรณ์ใช้โปรแกรม CFSAWss ดูสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการดำเนินธุรกิจ เพื่อนำไปวางแผนการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ใช้ระบบ Smart Monitor ตรวจสอบการดำเนินการของฝ่ายจัดการ
- พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาระบบการตรวจสอบกิจการสหกรณ์ โดยมุ่งเพิ่มศักยภาพของผู้ตรวจสอบกิจการให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินเช่น เงินฝาก เงินกู้ และหุ้น ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ผ่าน application Smart Member ที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ หรือ Application ที่สหกรณ์พัฒนาขึ้นใช้เองเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ร่วมเป็นหนึ่งในกลไกตรวจสอบและเสริมสร้างความโปร่งใสให้สหกรณ์
นอกจากนี้ยังเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่ผู้สอบบัญชีให้มีความรู้ด้าน IT เพิ่มขึ้น พัฒนาเทคโนโลยีช่วยตรวจสอบบัญชีเพื่อให้สามารถให้บริการตรวจสอบบัญชีได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย.-สำนักข่าวไทย