กรุงเทพฯ 18 มิ.ย. – ผอ.อผศ. เดินหน้าจัดทําโครงการ “ความห่วงใย ไร้พรมแดน” ออกให้บริการทางการแพทย์ในเชิงรุก ดูแลรักษาทหารผ่านศึกและครอบครัวในต่างจังหวัดให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาจาก รพ.ทหารผ่านศึก มากขึ้น
พล.อ.สัณทัศน์ นันทิภาคย์หิรัญ ผู้อํานวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) เปิดเผยว่า องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2491 มีหน้าที่ให้การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจําการ รวมทั้งผู้ที่กําลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศ ให้สามารถดํารงชีวิตได้อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี รวมทั้งเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึกให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไป
ซึ่งจากการเดินทางไปเยี่ยมเยียนทหารผ่านศึกและครอบครัวตามภูมิลําเนาในส่วนภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่ายังมีทหารผ่านศึกบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงระบบการบริการสุขภาพได้ หรือมีความลําบากในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ เนื่องจากสภาพความพิการเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือขาดทุนทรัพย์ ทําให้ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องและได้คุณภาพมาตรฐาน ตนจึงมอบนโยบายให้สมาคมแม่บ้านองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ร่วมกับโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ใช้ศักยภาพของหน่วยออกให้การบริการทางการแพทย์ในเชิงรุก เพื่อจัดทีมเข้าให้บริการรักษาพยาบาลและบริการด้านสุขภาพให้ทั่วถึง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ด้วยเหตุนี้ นางพัณณ์ชิตา นันทิภาคย์หิรัญ นายกสมาคมแม่บ้านองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ร่วมกับโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ได้ริเริ่มจัดทําโครงการ “ความห่วงใย ไร้พรมแดน” ขึ้น เพื่อให้การดูแลรักษาทหารผ่านศึกและครอบครัวที่พักอาศัยในจังหวัดต่างๆ ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาจากโรงพยาบาลทหารผ่านศึก โดยแพทย์เฉพาะทางและสหสาขาวิชาชีพ และเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพของทหารผ่านศึกและครอบครัว ให้มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัว การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันบรรเทาภาวะสุขภาพที่เป็นอยู่ หรือโรคที่อาจจะเกิดในอนาคต รวมทั้งเพื่อให้การดูแลทหารผ่านศึกและครอบครัวแบบองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ
พล.อ.สัณทัศน์ ระบุต่อว่า ทั้งนี้ ในการดําเนินงานตามโครงการดังกล่าว ได้มีการนําทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลทหารผ่านศึกไปให้การดูแลเชิงรุก และจัดทําการประเมินสุขภาพให้แก่ทหารผ่านศึกและครอบครัว เพื่อนําไปสู่การปรับปรุงแก้ไข และรับทราบปัญหาข้อขัดข้อง นอกจากนี้ ยังให้บริการซ่อมแซม จัดทําและจัดหากายอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่ทหารผ่านศึกพิการหรือพิการทุพพลภาพ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีขวัญและกําลังใจในการดําเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีด้วย. – สำนักข่าวไทย