กรุงเทพฯ 1 เม.ย.- เป็นวันแรกที่ก๊าซหุงต้มขยับขึ้นราคา 1 บาท /กก. ถัง 15 กก. ขยับขึ้นที่ 333 บาท หลังตลอด 2 ปีที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนให้ราคาต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง
ราคาก๊าซหุงต้ม ขยับ 1 บาท/กก. ซึ่งก๊าซที่จำหน่ายบรรจุถัง 15 กก. ทำให้ราคาจากเดิม 318 บาท ขี้นไปอีก 15 บาท เป็นถังละ 333 บาท และจะขยับขึ้นเดือนละ 1 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน รวมปรับขึ้น 45 บาทต่อถัง ทำให้ในเดือนมิถุนายน ราคาจะอยู่ที่ 363 บาท/ถัง 15 กก. กลับไปเท่าราคาเดิมตั้งแต่ช่วงเริ่มระบาดโควิดเมื่อ2 ปีก่อน หรือตั้งแต่มีนาคม 2563
ราคาที่ต่ำมาได้ 2 ปีเศษ เป็นเพราะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนให้ราคาต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และถึงแม้จะขยับราคาสูงขึ้น กองทุนฯก็ยังคงดูแลไม่ให้เกิน 363 บาทต่อถัง สาเหตุของการปรับขึ้นก็เนื่องจากภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเนื่องจาก เงินกองทุนน้ำมันล่าสุดติดลบแล้วกว่า 3.7 หมื่นล้าน เป็นเงินที่ดูแลก๊าซหุงต้มสูงถึงเกือบ 3 หมื่นล้านบาทและดูแลราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร วงเงินใช้ไปแล้ว กว่า 8 พันล้านบาท ทำให้มีปัญหาด้านสภาพคล่องของกองทุน และอยู่ในระหว่างการกู้เงินมาเสริมสภพาคล่องงวดแรก 2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ราคาก๊าซ ราคาน้ำมันตลาดโลกสูงเกินคาดจากผลกระทบทั้งดีมานด์พุ่งจากการฟื้นตัวโควิด-19 และ สงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยนอกจากราคาก๊าซหุงต้มจะขยับขึ้นแล้ว การตรึงราคาดีเซล 30 บาทก็จะถึงสิ้นเดือน เม.ย.นี้เท่านั้น หลังจากนั้นจะเป็oมาตรการคนละครึ่ง คือราคาดีเซลหากต้นทุนเกิน 30 บาท ราคาจะขึ้นครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งกองทุนน้ำมันจะดูแลต่อ ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้า 1 พ.ค. ก็จะขึ้นประมาณ 24 สต./หน่วย แต่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ โดยหากบ้านใดใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ค่าไฟฟ้าก็จะไม่ขยับขึ้นแต่อย่างใด โดยยังจ่ายในราคาปัจจุบัน
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. นัดแถลงด่วน ช่วงบ่ายวันนี้ (1 เม.ย.) เรื่อง การดำเนินการด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย กรณีบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) นำทีมแถลงโดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. พร้อมผู้บริหารสำนักงาน คปภ.ทุกคน จะมาร่วมกันชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยของทั้งสองบริษัท
มีการคาดการณ์จากแวดวงประกันภัยว่า น่าจะเป็นการใช้มาตรการสูงสุดคือ สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย และบริษัทไทยประกันภัย หลังบอร์ด คปภ.มีมติออกคำสั่งให้หยุดรับประกันภัยเป็นการชั่วคราว และให้เร่งขายทรัพย์สิน เพื่อแก้ไขฐานะการเงินไปก่อนหน้านี้ แต่ทางบริษัทยืนยันกับทาง คปภ. ว่าจะไม่เพิ่มทุนแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมา ได้ใส่เงินเข้าไปเกือบ 1 หมื่นล้านบาทแล้ว ขณะที่ยอดเคลมสินไหมประกันโควิด-19 เจอจ่ายจบ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย