กรุงเทพฯ 10 มี.ค.-ทั่วไทยมีลูกหลานแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ราว 400,000 คน ในจำนวนนี้เกินครึ่งไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่บางคนก็โชคดีที่ได้เรียน เพราะพ่อแม่ได้นายจ้างที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา
เสียงท่องศัพท์ภาษาไทยของเด็กๆ ดังให้ได้ยินจากห้องเล็กในแคมป์คนงานก่อสร้างใจกลางกรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ภาษาไทย คือวิชาที่เด็กๆ ตั้งอกตั้งใจเป็นพิเศษ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพูดคุยกับคนไทยได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะพวกเขาล้วนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
เป็นปกติของโครงการก่อสร้างทุกแห่ง ที่ต้องมีการทำที่พักสำหรับแรงงาน แต่ความพิเศษของที่นี่ก็คือ มีการจัดสรรพื้นที่เล็กๆ ขนาด 7x 7 เมตร สร้างเป็นห้องเรียนสำหรับเด็กๆ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ถือเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาแก่เด็กๆ กลุ่มนี้
ที่นี่มีครูเพียงคนเดียว คือ ครูวีรวรรณ ที่ดูแลเด็กข้ามชาติ 9 คน นอกจากสอนหนังสือแล้ว ยังจัดกิจกรรมนันทนาการให้เด็กๆ ทั้งวาดรูประบายสี การแสดง และออกกำลังกาย
“ครูก็จะสอนแบบว่า เป็นเพื่อนด้วย เป็นแม่ด้วย จะไม่คิดว่าเป็นครูอย่างเดียว ครูจะผ่อนคลาย เล่นบ้าง เรียนบ้าง คล้ายๆ กับว่าแม่เขาไปทำงาน แต่ว่าแม่คนที่สองคือครู เขาก็เหมือนกับอยู่กับแม่เหมือนกัน เขาก็จะไม่กลัว เขาก็จะกล้าแสดงออก กล้าเรียน กล้ารู้ กล้าถาม”
ไท เด็กสาวชาวกัมพูชาได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าห้อง เธอไม่เพียงมีหน้าที่ดูแลน้องๆ เหมือนเป็นพี่คนโตเท่านั้น แต่ยังอาสาช่วยครูสอนภาษาเขมรแก่เพื่อนร่วมชั้น เพื่อไม่ให้ลืมภาษาบ้านเกิด
ไท เล่าว่า ดีใจมากที่ได้รู้ว่าที่แคมป์นี้มีห้องเรียน ไม่อย่างนั้น เธอคงต้องขลุกอยู่แต่ในห้อง รอพ่อแม่กลับเมื่อเลิกงาน “หนูอยากเรียนภาษาไทยมาก อยากรู้ว่าภาษานี้มันเขียนยังไง คำนี้มันอ่านยังไง ถ้าหนูมีความรู้ หนูโตไป หนูมีความรู้ หนูจะไปทำงานดีๆ และก็หาเงินมาช่วยพ่อแม่”
นับว่าเป็นโชคดีของเด็กๆ กลุ่มนี้ ที่ได้พบผู้ประกอบการใจดี มีครูที่เอาใจใส่ แต่ทั่วไทย ยังมีลูกหลานแรงงานข้ามชาติอีกประมาณ 200,000 คน ที่ไม่มีโอกาสได้เรียน ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการของไทย รวมทั้งสหประชาชาติ มีกฎข้อหนึ่งระบุว่า เด็กทุกคนต้องมีสิทธิได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน
ประชาคมอาเซียนให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน แต่ทัศนคติทางเชื้อชาตินับเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กีดขวางไม่ให้เด็กข้ามชาติได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเต็มที่ หากลูกหลานแรงงานข้ามชาติได้รับโอกาส ก็เชื่อได้ว่าพวกเขาเหล่านี้จะเติบโตเป็นคนคุณภาพของสังคมอาเซียนได้.-สำนักข่าวไทย