ลอนดอน 25 ก.พ. – ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ได้พยายามใช้วิถีทางการทูตเพื่อต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัสเซียมาโดยตลอด เช่น การประกาศเตือนล่วงหน้าหลายครั้งเกี่ยวกับแผนบุกยูเครนของรัสเซีย แต่ก็เน้นย้ำชัดเจนว่า สหรัฐจะไม่ส่งทหารเข้าร่วมในการต่อสู้ครั้งนี้ ซึ่งทำให้ทั่วโลกตั้งคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจดังกล่าวของผู้นำสหรัฐ
บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซี ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ประธานาธิบดีไบเดนตัดสินใจไม่ส่งทหารไปยังยูเครนไว้ 4 ประการ ประการแรก สหรัฐมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนไม่มีผลประโยชน์ต่อความมั่นคงของสหรัฐ เนื่องจากยูเครนไม่ได้เป็นประเทศเพื่อนบ้านและไม่มีพรมแดนติดสหรัฐ และสหรัฐเองก็ไม่มีฐานทัพอยู่ในยูเครน นอกจากนี้ ยูเครนยังไม่ใช่ประเทศที่มีรายชื่ออยู่ในแผนน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์และไม่ได้เป็นพันธมิตรทางการค้ารายสำคัญของสหรัฐ
ประการที่สอง บีบีซีมองว่า ประธานาธิบดีไบเดนไม่ต้องการใช้อำนาจแทรกแซงทางการทหารและหลีกเลี่ยงการแทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งเป็นหลักการที่เขายึดมั่นมาโดยตลอดในเส้นทางนักการเมือง โดยเฉพาะการสนับสนุนคำสั่งถอนกองกำลังทหารสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานเมื่อปลายปีก่อน แม้รู้ดีว่าคำสั่งดังกล่าวจะทำให้เกิดความวุ่นวายและวิกฤตทางมนุษยธรรมก็ตาม
ประการที่สาม บีบีซีวิเคราะห์ว่าชาวอเมริกันไม่ต้องการทำสงคราม เนื่องจากผลสำรวจความเห็นล่าสุดของสำนักข่าวเอพีและศูนย์วิจัยกิจการสาธารณะ (AP-NORC) ของสหรัฐชี้ว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 72 ระบุว่าสหรัฐควรมีบทบาทเพียงเล็กน้อยในสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน หรือไม่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมเลย ทั้งนี้ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า โดยเฉพาะปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ประธานาธิบดีไบเดนต้องคำนึงถึง
ประการสุดท้าย บีบีซีมองว่า สหรัฐไม่ต้องการสร้างอันตรายจากการเผชิญหน้าของชาติมหาอำนาจ เนื่องจากทั้งสหรัฐและรัสเซียถือเป็นสองประเทศมหาอำนาจที่มีหัวรบนิวเคลียร์รวมกันเป็นมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดนยังไม่ต้องการทำสงครามโลกที่เสี่ยงต่อการปะทะกันโดยตรงระหว่างกองทหารสหรัฐกับรัสเซียในยูเครน.-สำนักข่าวไทย